ดีอีเอส ห่วงประชาชนสับสนข้อมูลบิดเบือน กม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

02 มิ.ย. 2565 | 13:13 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2565 | 20:19 น.

ดีอีเอส แนะประชาชนศึกษาข้อมูล กม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ จากช่องทางสื่อสารของกระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หลังพบมีข้อมูลบนโซเชียลเผยแพร่ 4 เรื่องไม่จริง-บิดเบือน

 วันนี้ (2 มิ.ย. 65) นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง  กล่าวว่า จากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน 4 เรื่อง เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65 เป็นต้นไป

 

สร้างความสับสนให้กับสังคม และอาจทำให้มีประชาชนหลงเชื่อ เกิดความเข้าใจผิดต่อประเด็นการให้ความคุ้มครองสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้

โดยพบว่า มีการเผยแพร่และส่งต่อข้อมูล 4 เรื่องไม่จริงเกี่ยวกับ PDPA ได้แก่  1. การถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมจะผิด PDPA  โดยในข้อนี้ ขอชี้แจงว่า กรณีการถ่ายรูป-ถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่น โดยผู้ถ่ายรูป-ถ่ายคลิปไม่เจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้ หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษก ดีอีเอส

2. ถ้านำคลิปหรือรูปถ่ายที่ติดคนอื่นไปโพสต์ในโซเชียลมีเดีย โดยบุคคลอื่นไม่ยินยอมจะผิด PDPA  ในกรณีนี้ ยืนยันว่าสามารถโพสต์ได้ หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

 

3. ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนผิด PDPA  ซึ่งในความเป็นจริงตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ การติดกล้องวงจรปิดภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน 

 

4. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้  ซึ่งในประเด็นนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอม หากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ใน 6 กรณีดังต่อไปนี้

 

ได้แก่ (1) เป็นการทำตามสัญญา  (2) เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ  (3) เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล  (4) เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ  (5) เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และ (6) เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง

 

“หลักการข้างต้น อาจเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆ ไป สำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65 มีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดมาตรการในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศให้หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปได้ปฏิบัติตาม โดยนับเป็นหนึ่งในชุดกฎหมายดิจิทัล เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม ในการใช้บริการออนไลน์ในชีวิตประจำวัน” โฆษกดีอีเอสกล่าว

 

เนื่องจาก PDPA นับเป็นกฎหมายใหม่ที่มีการบังคับใช้ เพื่อให้ประชาชนและสังคม รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เกิดความเข้าใจแนวทางปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในกฎหมายฉบับนี้ อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถเข้าไปศึกษาและติดตามข้อมูลโดยตรง

 

จากช่องทางสื่อสารของกระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์และโซเชียลที่เข้าถึงได้สะดวกตลอด 24 ชั่วโมง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.mdes.go.th/mission/82 และเพจเฟซบุ๊ก pdpcthailand ที่ https://www.facebook.com/pdpc.th