โควิดเป็นโรคประจำถิ่น อนุทิน เปิด 4 แนวทางพร้อมรับการปรับเปลี่ยน 

02 มิ.ย. 2565 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2565 | 05:28 น.
551

โควิดสู่โรคประจำถิ่น "อนุทิน" เปิดแนวทางเตรียมความพร้อม 4 ด้านรองรับการเปลี่ยนแปลง ภายใต้แนวคิด Health for Wealth แต่ละด้านจะต้องทำอะไรบ้าง อ่านเลย

ไทยเตรียมความพร้อมรับโควิดสู่การเป็นโรคประจำถิ่น โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 6/2565 ว่า วันนี้ที่ประชุมมีวาระสำคัญเรื่องการเตรียมความพร้อมเปลี่ยนผ่านโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น โดยมีการเตรียมความพร้อม 4 ด้าน คือ ด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและสังคม และด้านการสื่อสาร

 

ทั้งนี้ ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่ำกว่า 5,000 รายต่อวัน ผู้เสียชีวิตลดลงต่ำกว่า 50 รายต่อวัน การฉีดวัคซีนโควิด 19 ทำได้ดี โดยฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 137 ล้านโดส และการฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกและนานาประเทศว่า บริหารจัดการโรคระบาดได้ดี

 

มีความพร้อมในการเผชิญปัญหาและปรับตัวไปตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น เป็นผลจากการที่ประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ปฏิบัติตามคำแนะนำการป้องกันโรคส่วนบุคคล ปรับวิถีการดำเนินชีวิตแบบ new normal และเข้ารับวัคซีน

กระทรวงสาธารณสุข จึงเสนอการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับการเดินหน้าไปสู่โรคประจำถิ่นอย่างปลอดภัย ภายใต้แนวคิด Health for Wealth ใช้สุขภาพสร้างความเข้มแข็งประเทศ คือ ประชาชนปลอดภัย เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง โดยมีเป้าหมายเพื่อคืนระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ประชาชนทุกคน ผู้ป่วยทุกโรค ได้ใช้บริการตามปกติ เนื่องจากโรคโควิด 19 ลดความรุนแรงลงมาก ไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงจนกระทบกับการรักษาพยาบาลโรคอื่น ๆ อีกต่อไป โดยจะมีการเตรียมพร้อมมาตรการทั้ง 4 ด้าน ดังนี้

มาตรการด้านสาธารณสุข

  • เดินหน้า Universal Vaccination
  • เร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากกว่า 60%
  • ปรับระบบเฝ้าระวังเน้นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนและผู้ป่วยปอดอักเสบ
  • ผ่อนคลายมาตรการสำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ
  • ปรับแนวทางการแยกกักผู้ป่วยและกักกันผู้สัมผัส

มาตรการด้านการแพทย์

  • ปรับแนวทางการดูแลรักษาโควิด 19 แบบผู้ป่วยนอก
  • เน้นดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรง และมีอาการรุนแรง
  • ผู้ป่วยภาวะ Long COVID ปรับมาตรการการดูแลรักษาผู้ป่วยทั่วไป
  • ไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิค 19 ยกเว้นมีอาการหวัด สงสัยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
  • ผู้ป่วยในหรือต้องผ่าตัด จะตรวจ ATK หรือ RT-PCR ตามความเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ป่วยรายอื่นและบุคลากรทางการแพทย์
  • เตรียมระบบการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมกับอาการและระดับความรุนแรงของโรค
  • เตียง บุคลากร สำรองยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลไว้อย่างเพียงพอ หากเกิดการระบาดซ้ำ

 

มาตรการด้านกฎหมาย สังคมและองค์กร

  • บริหารจัดการด้านกฎหมายเพื่อลดความสูญเสีย
  • เพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณสุข
  • คกก.โรคติดต่อฯ จะพิจารณาเสนอให้ปรับโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังซึ่งจะมีแนวทางการควบคุมป้องกันโรคคล้ายกับโรคติดต่อทั่วไป
  • มีการผ่อนคลายมาตรการทางสังคม
  • ลดการจำกัดการเดินทางและการรวมตัวของคนหมู่มาก
  • พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวและพื้นที่เฝ้าระวัง สถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ อาบ อบ นวด หรือสถานบริการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.65 ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด
  • เน้นย้ำประชาชนและสังคมยังเข้มมาตรการ 2U คือ Universal Prevention สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และ Universal Vaccination ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม

 

มาตรการด้านการสื่อสาร

  • ทุกภาคส่วนร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตร่วมกับโควิดได้ (Living with COVID)
  • สื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อสร้างความร่วมมือของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา