พื้นที่ไหนจะได้ถอดหน้ากากอนามัยก่อน มีเกณฑ์พิจาณาอย่างไร อ่านเลย

26 พ.ค. 2565 | 14:29 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2565 | 21:29 น.
3.0 k

พื้นที่ไหนจะได้ถอดหน้ากากอนามัยก่อน มีเกณฑ์พิจาณาอย่างไร อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า การเตรียมปรับคำแนะนำการสวมหน้ากากอนามัยนั้น เนื่องจากมีทิศทางที่จะผ่อนคลายเพื่อเข้าสู่การใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติมากขึ้น จึงจะเริ่มมีการปรับลดมาตรการ โดยเฉพาะมาตรการส่วนบุคคล เช่น การสวมหน้ากากอนามัย อาจจะเริ่มปรับในพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน 

 

โดยต้องพิจารณาจากสถานการณ์การระบาดที่ลดลง ประชาชนรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน 60-70% และพิจารณาเป็นบางสถานที่ก่อน เช่น สถานที่เปิดโล่ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังคงเน้นการป้องกันในกลุ่มเสี่ยง 608 และป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่ 

 

ทั้งนี้ ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ย 4-5 พันคนต่อวัน ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ในเกณฑ์คงตัว ส่วนผู้เสียชีวิตรายวันอยู่ในกลุ่ม 608 คือผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง โดยครึ่งหนึ่งมีอายุเกิน 70 ปี และส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์คือ 3 เข็มขึ้นไป 

จึงต้องรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยง 608 มารับวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น เพื่อลดการเสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในระบบลดลงจากเดิมเกือบ 2 แสนราย เหลือไม่ถึง 5 หมื่นราย

 

สอดคล้องกับมาตรการที่ผ่อนคลายลง โดยขณะนี้ยังคงการเตือนภัยโควิดระดับ 3 แต่หากการติดเชื้อ การป่วยหนักและเสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง อาจปรับลดการเตือนภัยเป็นระดับ 2 ซึ่งจะมีการผ่อนคลายมากขึ้น ใช้ชีวิตได้ปกติมากขึ้น 

 

สำหรับสถานการณ์หลังเปิดเทอม ขณะนี้เริ่มพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในบางโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนประจำซึ่งสามารถแยกโซนเรียนได้โดยไม่ต้องปิดโรงเรียน จึงขอให้เน้นเรื่องการสวมหน้ากากและเว้นระยะห่าง และขอให้กลุ่มเด็กเล็กอายุ 5-11 ปี ไปรับวัคซีนตามกำหนด เพราะอาจมีการแพร่เชื้อและรับเชื้อระหว่างกันได้

 

พื้นที่ไหนจะได้ถอดหน้ากากอนามัยก่อน

 

อย่างไรก็ดี คณะทำงานศูนย์ประเมินผลประสิทธิผลและประสิทธิภาพวัคซีน กรมควบคุมโรค ได้ศึกษาข้อมูลการใช้จริงวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย ช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน จากผู้ฉีดวัคซีนกว่า 5 แสนรายทั่วประเทศ เพื่อดูประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อการป่วยหนักและการเสียชีวิต เปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน พบว่า การฉีดวัคซีน 2 เข็ม ป้องกันติดเชื้อโอมิครอนได้น้อยมาก 
 

แต่ยังป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ 75% หากฉีด 3 เข็ม ป้องกันติดเชื้อประมาณ 15% ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 93% ส่วนการฉีด 4 เข็ม ป้องกันติดเชื้อโอมิครอนได้เพิ่มขึ้นเป็น 76% ซึ่งเป็นเหตุผลว่าบางคนฉีด 4 เข็มแล้วยังมีการติดเชื้อ 

ส่วนการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตพบสูงถึง 99% และที่น่าสนใจคือไม่พบการเสียชีวิตในผู้ที่ฉีดวัคซีน 4 เข็ม ดังนั้น จึงขอให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อช่วยป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

 

และหากต้องการให้เปิดประเทศได้อย่างปลอดภัย กลับไปใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากกว่า 60% ขึ้นไป ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีวัคซีนเพียงพอสำหรับผู้ที่ต้องการรับวัคซีนทั้งเข็มที่ 3 เข็มที่ 4

 

"ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ส่วนหนึ่งคิดว่าฉีด 2 เข็มเพียงพอแล้ว อีกส่วนกังวลผลข้างเคียง ซึ่งผลการศึกษาพบว่าวัคซีน 2 เข็มไม่เพียงพอ ส่วนเรื่องผลข้างเคียง ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง เช่น ไข้ ปวดเมื่อย เป็นต้น ยืนยันว่าวัคซีนทุกสูตรที่ประเทศไทยใช้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผลป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้"