"น้ำปัสสาวะ"รักษาโรคได้จริงหรือ ความเสี่ยงและอาการที่พบ

13 พ.ค. 2565 | 15:18 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2565 | 23:48 น.
1.5 k

กระแสการดื่ม“ปัสสาวะ” เพื่อรักษาโรค กำลังเป็นที่พูดถึง ทั้ง ๆที่ในน้ำปัสสาวะมีของเสีย พยาธิ สารพัดเชื้อโรค ความเสี่ยงและอาการจากการดื่มน้ำปัสสาวะ มีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย

เกิดอะไรขึ้นใน พ.ศ.นี้ ที่ยังมีความเชื่อกับการดื่มน้ำ"ปัสสาวะ"รักษาโรค หลายคนอ้างแล้วบอกต่อ ๆ กันมาว่าน้ำปัสสาวะเป็นน้ำพระพุทธเจ้า เหมือนเป็นยาอายุวัฒนะ สามารถบำบัดรักษาโรคได้  ทำให้แผลสมานกันเร็ว รักษาแผลหนอง พุพอง รักษาอาการตาแดง  และสามารถรักษาโรคมะเร็งได้อีกด้วย

 

เรื่องจริงจะเป็นเช่นไร "เช็กให้ชัวร์กับ อย."ไขข้อสงสัยให้แล้วดังนี้

 

 

\"น้ำปัสสาวะ\"รักษาโรคได้จริงหรือ  ความเสี่ยงและอาการที่พบ

ปัสสาวะบำบัด คือ การรักษาหรือบำบัดโรคด้วยปัสสาวะ ทั้งด้วยวิธีการดื่มและทาตามร่างกาย ?
 

ซึ่งรู้หรือรู้ไม่ว่าน้ำปัสสาวะจัดเป็นของเสียที่ร่างกายขับออกมา ในน้ำปัสสาวะประกอบด้วย น้ำ และเกลือแร่ (พบในปริมาณน้อย) ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นของเสียจากการย่อยโปรตีน เช่น ยูเรีย แอมโมเนีย คีโตน ครีตินีน และอาจปนเปื้อนไปด้วยเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรืออาจมีไข่พยาธิปนเปื้อนอยู่ด้วย

ดังนั้น หากนำน้ำปัสสาวะมาดื่ม ทา หรือหยอดตานั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ เพราะนอกจากจะไม่หายจากโรคเดิมแล้ว อาจทำให้อาการหนักมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้อาจมีความเสี่ยงและอาการอื่น ๆ ตามมาเช่น

 

  • 1. เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • 2. อาจได้รับสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย
  • 3. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต โรคตับ โรคหัวใจ อาจอาการแย่ลงได้
  • 4. คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย

         

หากมีข้อสงสัยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรจะดีกว่าการดื่มหรือการนำปัสสาวะมาทา

 

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)