ข่าวดี! "น้ำมันกัญชา" ขององค์การเภสัชฯ บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว

12 พ.ค. 2565 | 16:05 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2565 | 23:08 น.
773

อนุทิน เผย ข่าวดี!น้ำมันสารสกัดจากกัญชาขององค์การเภสัชกรรม 3 รายการได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรแล้วช่วยให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาสุขภาพ พร้อมลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาราคาสูงจากต่างประเทศ

12 พฤษภาคม 2565 ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม ร่วมแถลงข่าว น้ำมันสารสกัดจากกัญชาขององค์การเภสัชกรรม ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร

 

นายอนุทิน กล่าวว่า การนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการขับเคลื่อนอย่างอย่างต่อเนื่องจนขณะนี้เห็นผลเป็นรูปธรรม มีคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันให้บริการทั่วประเทศถึง 1,173 แห่ง

 

มีการพัฒนาตำรับยาแผนไทยสารสกัดต่าง ๆ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ร่วมดำเนินการ มีการปลูกกัญชาตามมาตรฐานทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย เป็นหน่วยงานแรกของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์น้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ล็อตแรก ให้แก่คลินิกกัญชานำร่องในทุกเขตสุขภาพ

เริ่มจากระยะแรกเป็นน้ำมันสารสกัดกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น สูตรที่มี THC เด่น สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ภาวะปวดประสาท และมีการพัฒนาน้ำมันสารสกัดกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น สูตรที่มี CBD เด่น และสูตรที่มี CBD และTHC ในสัดส่วน 1:1 ส่งให้กับคลินิกกัญชาทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งกรมการแพทย์ได้ศึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์สูตร THC เด่น และสูตร 1:1 ในผู้ป่วยประคับประคองหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย พบว่า ได้ผลดี ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

 

เป็นที่น่ายินดีว่า น้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ทั้ง 3 สูตรได้รับการบรรจุเป็นรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564 แล้ว โดยได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงจะช่วยให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาสุขภาพได้มากขึ้น แต่ยังจะช่วยให้ประเทศชาติมีความเข้มแข็งทางยา ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาราคาสูงจากต่างประเทศได้อีกด้วย นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ได้กำกับ ติดตามและสนับสนุนให้องค์การเภสัชกรรมวิจัยและพัฒนากัญชาทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาการผลิตและนำผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ทยอยออกสู่ตลาด เพื่อให้แพทย์ของคลินิกกัญชาแผนปัจจุบันโรงพยาบาลภาครัฐ 126 แห่ง และโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน 71 แห่ง นำไปใช้กับผู้ป่วย ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาได้การตอบรับเป็นที่น่าพอใจทั้งจากแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาและผู้ป่วยที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม

 

ขณะเดียวกันได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ของการใช้น้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ ซึ่งจากผลการศึกษาที่ปรากฏชัดเจน คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติจึงเห็นชอบให้น้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ทั้ง 3 รายการ บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564 ซึ่งจะเป็นยาสำหรับใช้ในโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข โดยมีสรรพคุณและข้อบ่งใช้ตามข้อกำหนดทางการแพทย์


นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชฯ กล่าวว่า น้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชฯ ทั้ง 3 รายการ เป็นรูปแบบยาหยดใต้ลิ้น ประกอบด้วย น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี THC เด่น ใช้เสริมในการรักษาภาวะคลื่นไส้ อาเจียนจากเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือมีอาการปวดในระดับปานกลางจนถึงรุนแรง, น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD เด่น ตามโครงการของกรมการแพทย์ สำหรับรักษาโรคลมชักในเด็ก และน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD และTHC สัดส่วน 1:1 ใช้รักษาเสริมในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดปานกลางถึงรุนแรง

 

ทั้งนี้ การใช้น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี THC เด่น ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยบางรายมีความจำเป็นต้องใช้น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี THC สูงกว่าผลิตภัณฑ์เดิมที่มีความเข้มข้น 13 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย

 

องค์การเภสัชฯ จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันสารสกัดกัญชาสูตรใหม่ที่มี THC เข้มข้น 81 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร เพื่อใช้เป็นการรักษาเสริมในภาวะคลื่นไส้ อาเจียนจากเคมีบำบัด 
ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือมีอาการปวดในระดับปานกลางจนถึงรุนแรง ซึ่งผ่านการรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว

 

ปัจจุบันคณะอนุกรรมการประเมินรายการยาได้พิจารณาบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร และอยู่ระหว่างขั้นตอนการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป นับเป็นยาจากกัญชารายการที่ 4 ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ที่ได้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร 

 

นอกจากนี้ องค์การเภสัชฯ ยังร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการรวม 12 แห่งในการเตรียมความพร้อมทางด้านวัตถุดิบและกำลังการผลิตรองรับการผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากกัญชาและกัญชง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และมุ่งมั่นที่จะเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนกัญชาและกัญชงให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการรักษาอย่างมีมาตรฐาน