"บอแรกซ์" คืออะไร สามารถรักษาโรคได้จริงไหม เช็คเลย!

12 พ.ค. 2565 | 03:03 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2565 | 14:02 น.
2.3 k

จากกระแสโซเชียล ได้มีการชักชวนให้กิน"บอแรกซ์" ว่ารักษาโรคได้สารพัด ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้ชี้ให้เห็นถึงอันตรายต่อสุขภาพ และอาการหลังทานเข้าไป ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร รวบรวมให้แล้วที่นี่

ตามที่มีกระแสโซเชียล ได้มีการชักชวนให้กินบอแรกซ์ ว่ารักษาโรคได้สารพัด กินแล้วหายป่วย กินแล้วไม่เห็นตาย ทั้งที่บอแรกซ์เป็นสารเคมีที่ห้ามใส่ในอาหารทุกชนิด ข้อเท็จจริง"บอแรกซ์" กินได้และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจริงหรือ? 

 

บอแรกซ์  เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่เรียกว่าโซเดียมเตตระบอเรต (Sodium tetraborate) หรือที่รู้จักกันในชื่อผงกรอบ หรือน้ำประสานทอง มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีขาว ไม่มีกลิ่น ละลายน้ำได้ เป็นสารที่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ทำแก้ว เพื่อให้ทนต่อความร้อน หรือใช้เป็นสารประสานในการเชื่อมทอง ใช้เป็นส่วนประกอบยาฆ่าแมลง ใช้ชุบและเคลือบโลหะ แต่พบว่ามีผู้ลักลอบนำมาผสมในอาหาร เพื่อให้อาหารมีความหยุ่นกรอบ คงตัวได้นาน ไม่บูดเสียง่าย

อันตรายจากบอแรกซ์

 

บอแรกซ์ เป็นสารพิษร้ายแรงที่กฎหมายประกาศ ห้ามใส่ในอาหารทุกชนิด เพราะเป็นอันตรายกับทุกอวัยวะภายในร่างกาย โดยเฉพาะตับ ไต สมอง ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบย่อยอาหาร และผิวหนัง อาการที่แสดงจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารบอแรกซ์ที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายและความสามารถของร่างกายในการขับถ่ายออกมา

 

แบ่งได้ 2 ลักษณะ ได้แก่

 

  • แบบเฉียบพลัน อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง โดยอาจเกิดอาการเฉียบพลันได้ หากได้รับสารบอแรกซ์ ตั้งแต่ 15 กรัม/ครั้ง กรณีเด็กเล็ก หากได้รับสารบอแรกซ์ในปริมาณ 5 กรัม/ครั้ง อาจถึงแก่ชีวิตได้

 

  • แบบเรื้อรัง จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผิวหนังแห้ง หน้าบวม ตาบวม เยื่อตาอักเสบ และตับหรือไตอักเสบ

 

\"บอแรกซ์\" คืออะไร สามารถรักษาโรคได้จริงไหม เช็คเลย!

สารนี้สามารถสะสมในร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่จะสะสมไว้ที่กรวยไต ทำให้เกิดการอักเสบ ทั้งนี้ไม่ว่าร่างกายจะได้รับสารนี้เข้าไปในปริมาณมากในคราวเดียวหรือได้รับน้อยแต่เกิดการสะสม ก็เป็นอันตรายได้ทั้งนั้น

 

บอแรกซ์เป็นสารที่ห้ามใช้ในอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2561)ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท และจัดเป็นการผลิตหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         

บทสรุปคือ : ยังไม่พบงานวิจัย หรือมีหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัดว่าสารบอแรกซ์สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้และยังเป็นสารที่อันตรายต่อสุขภาพ จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อนำบอแรกซ์มาบริโภคไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ อาจส่งผลถึงชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว

 

ที่มา : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
       : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)