เทียร์ คืออะไร ไทยจะขึ้นเทียร์ 2 ได้ ? หลัง“บิ๊กป้อม”โชว์ผลงานปราบค้ามนุษย์

11 พ.ค. 2565 | 12:15 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2565 | 19:10 น.
2.3 k

ทำความเข้าใจ ระดับเทียร์ คืออะไร? ไทยจะขึ้นเทียร์ 2 ได้หรือไม่ เเละต้องทำอย่างไร ? หลัง “บิ๊กป้อม” อวดผลงานปราบปรามการค้ามนุษย์

ประเด็นการค้ามนุษย์และแรงงานข้ามชาติ ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ก่อนหน้านี้กระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานการติดตามและการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons Report-ทิปรีพอร์ต ประจำปี 2021

โดยไทยถูกลดระดับ จากเทียร์ 2 สู่เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ ง่ายๆก็คือ ว่า เป็นประเทศที่ต้องจับตามอง เฝ้าระวัง 

ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการดำเนินงานปราบปรามการค้ามนุษย์ตอนหนึ่ง ว่าตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้ขับเคลื่อนงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตามข้อเสนอแนะของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ประจำปี 2564 จำนวน 15 ข้อ

ซึ่งมีความก้าวหน้า เช่น การจัดทำแนวทางการปฏิบัติงาน และคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และกำหนดให้นายจ้างต้องจัดทำสัญญาจ้างเป็นภาษาไทยและภาษาที่ลูกจ้างต่างด้าวเข้าใจ เป็นต้น

รัฐบาลยังได้ริเริ่มโครงการที่สำคัญเพิ่มเติมเพื่อยกระดับมาตรฐานการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ได้แก่

  • การจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกส่งต่อระดับชาติและการบริหารจัดการคดีและการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ.2565
  • จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายในระดับชาติ จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์
  • การออกมาตรการเชิงรุกป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์

 

ทำให้สถิติการค้ามนุษย์ในปี 2563 เมื่อเทียบกับ 2562 ลดลงจาก 286 คดี เหลือ 133 คดี แสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาล ที่ต้องการให้เกิดการป้องกันหรือปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืนต่อไป ดังนั้นประเทศไทยจึงสมควรได้รับการพิจารณาอันดับดีขึ้น เป็นเทียร์ 2 ในปี 2565

 

 

ข้อมูล สำนักแผนงานและงบประมาณ ศาลยุติธรรม รายงานจำนวนคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลทั่วราชอาณาจักร ระหว่างเดือน มกราคม - ธันวาคม 2564 มีคดีที่เข้าสู่การพิจารณาทั้งหมด 402 คดี และคดีที่พิพากษาแล้วเสร็จจำนวน 223 คดี

 

รูปแบบความผิดในฐานการ "ค้ามนุษย์" จากข้อมูลทั้งหมด 402 คดี 

  1. การแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าประเวณี จำนวน 221 คน หรือ ร้อยละ 63.32
  2. ผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก จำนวน 16 คน หรือ ร้อยละ 4.58
  3. การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น จำนวน 14 คน หรือ ร้อยละ 4.01
  4. นำคนมาเป็นทาส จำนวน 55 คน หรือ ร้อยละ 15.76
  5. นำคนมาขอทาน จำนวน 4 คน หรือ ร้อยละ 1.15
  6. การบังคับใช้แรงงาน หรือบริการ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
  • การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ (ไม่เกี่ยวกับประมง) จำนวน 18 คน หรือร้อยละ 5.16
  • การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ (เกี่ยวกับประมง) จำนวน 19 คน หรือ ร้อยละ 5.44
  • การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ (เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่อง) จำนวน 2 คน หรือ ร้อยละ 0.57

 

การจัดลำดับในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ (เทียร์ 1 – 3)

สำหรับรายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) เป็นรายงานที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐ จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี ตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act of 2000 หรือ TVPA)

 

เพื่อรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐ โดยเปรียบเทียบสถานการณ์การค้ามนุษย์ของทั่วโลกกับมาตรฐานของสหรัฐ และจัดลำดับประเทศต่างๆ ออกเป็น 4 ระดับ

 

  • เทียร์ 1 (Tier 1) – หมายถึงประเทศหรือรัฐบาลที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (ทีวีพีเอ) อย่างครบถ้วน
  • เทียร์ 2 (Tier 2) – หมายถึงประเทศหรือรัฐบาลที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของ ทีวีพีเอ ไม่ครบถ้วน แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเหล่านั้น
  • เทียร์ 2 เฝ้าระวังเป็นพิเศษ (Tier 2 Watchlist) – หมายถึงประเทศที่การค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น, ล้มเหลวในการแสดงหลักฐานการเพิ่มความพยายามในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ในปีที่ผ่านมา และถูกพิจารณาว่ากำลังพยายามอย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้สามารถทำตามมาตรฐานขั้นต่ำของ ทีวีพีเอ โดยสัญญาว่าจะใช้มาตรการเพิ่มเติมในอนาคตภายในปีถัดไป

 

อย่างไรก็ตาม กฎหมาย TVPA กำหนดเพิ่มด้วยว่า ประเทศที่ถูกจัดอยู่ในระดับเทียร์ 2 เฝ้าระวัง เช่น ประเทศไทย หากอยู่ในระดับนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี ปีถัดไปอาจถูกปรับลดระดับลงสู่เทียร์ 3 โดยอัตโนมัติ

 

เว้นแต่ว่าจะสามารถแสดงหลักฐานได้ว่าในรอบปีที่ผ่านมา มีพัฒนาการที่สำคัญที่สมควรได้รับการปรับระดับขั้นจากเทียร์ 2 เฝ้าระวัง ให้เป็นเทียร์ 2 หรือเทียร์ 1 หรือมีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะได้รับยกเว้นจากการถูกปรับลดระดับโดยอัตโนมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

 

โดยประเทศนั้นๆ จะต้องสามารถแสดงแผนงานที่จะใช้ความพยายามเพิ่มขั้นในการต่อต้านการค้ามนุษย์และทุ่มเททรัพยากรเพียงพอที่จะดำเนินการตามแผนงาน