เชียงใหม่แชมป์อุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ ภาพรวมทั่วไทย 4 วันอันตราย ตายแล้ว 157

15 เม.ย. 2565 | 13:11 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2565 | 20:33 น.

ศปถ.เผยอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์วันที่สี่ (14 เม.ย.) ตาย 41 บาดเจ็บ 332 ราย ขณะที่ “เชียงใหม่” ยืนหนึ่งมีอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงสงกรานต์มากที่สุด ส่วนช่วงเวลาอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ ช่วงระหว่าง 1-2 ทุ่ม

15 เม.ย. 65 นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี  เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2565 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ "ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ" ได้เกิดอุบัติเหตุรวมทั้งสิ้น 324 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 332 คน ผู้เสียชีวิต 41 ราย

 

ส่วน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด นั้น ประกอบด้วย

  • ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 35.19
  • ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 32.41

ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 84.23) รถปิกอัพ (ร้อยละ 5.06) ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง (ร้อยละ 37.04) ถนนใน อบต./หมู่บ้าน (ร้อยละ 33.33) บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง (ร้อยละ 82.72) ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 19.01 – 20.00 น. (ร้อยละ 8.33)  ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี (ร้อยละ 21.72)

 

โดย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (14 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (16 คน) แต่จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่  ลำปาง และสระแก้ว (จังหวัดละ 3 ราย)

 

เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,907 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 56,377 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 406,487 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 75,615 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่  20,542 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 19,876 ราย

 

สรุป สถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 4 วัน (วันที่ 11 – 14 เมษายน 2565) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,195 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 1,185 คน ผู้เสียชีวิต 157 ราย

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (44 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (43 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (7 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตรวม 16 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร ตรัง นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ปัตตานี ยะลา ระนอง ลำพูน สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ