ซื้อชุดตรวจ ATK ราคาถูก เจอของปลอม คืนได้ไหม ร้องเรียนยังไง เช็คที่นี่

15 เม.ย. 2565 | 06:08 น.
3.1 k

เตือนเลือกซื้อชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือ ATK ผ่านการซื้อขายออนไลน์ เสี่ยงเจอถูกหลอกลวง ได้รับของปลอม สคบ. แจ้งช่องทางผู้บริโภค สามารถร้องเรียน ตรวจสอบ และมีช่องทางคืนสินค้าได้ตามกฎหมาย เช็ควิธีการคืน การร้องทุกข์ได้ที่นี่

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รายวันยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่า นอกจากจะสร้างความตื่นตระหนกให้กับใครหลายคนแล้ว การหาอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาป้องกัน หรือตรวจหาเชื้อให้กับตัวเองก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะชุดตรวจ ATK ที่มีขายกันแพร่หลายทั้งร้านขายยา และออนไลน์

 

การเลือกซื้อชุดตรวจโควิด-19 หรือชุดตรวจ ATK ในปัจจุบันมีให้เลือกหลายยี่ห้อ หลายรูปแบบ ทั้งเก็บสารคัดหลั่งทางจมูก หรือตรวจแบบน้ำลาย ใครสะดวกช่องทางไหนก็เลือกซื้อกันได้สะดวกมากขึ้น

 

แต่อย่างไรก็ดี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ได้ออกมาแจ้งเตือนผู้บริโภค ให้ระมัดระวังการซื้อชุดตรวจ ATK โดยเฉพาะการซื้อผ่านออนไลน์กรณีเป็นพิเศษ

 

นั่นเพราะมีความเสี่ยงอาจได้ชุดตรวจที่เป็นของปลอม หรืออาจจะได้ชุดตรวจที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และอาจจะได้ผลการตรวจที่ผิดพลาดได้ เพราะที่ผ่านมา มีประเด็นการขายชุดตรวจโควิด-19 ทางสื่อออนไลน์และมีการโฆษณาลดแลกแจกแถม ส่วนใหญ่ อย. ได้ตรวจสอบพบว่าเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายเป็นจำนวนมาก 

สคบ. จึงขอให้ผู้บริโภคควรเลือกซื้อจากสถานพยาบาล หน่วยงานของรัฐ หรือร้านขายยาทั่วไปที่มีเภสัชกรควบคุม เพื่อให้คำแนะนําเกี่ยวกับวิธีการใช้ วิธีการเก็บสิ่งตรวจ วิธีการแปลผล การปฏิบัติตัวหลังทราบผลการตรวจ และการทิ้งชุดตรวจอย่างถูกต้อง เนื่องจากชุดตรวจโควิดเป็นเครื่องมือแพทย์ไม่แนะนำให้ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์

 

สคบ. แนะนำการซื้อชุดตรวจ ATK ผ่านออนไลน์

 

ทั้งนี้หากผู้บริโภคซื้อชุดตรวจ ATK ตามแพลตฟอร์มออนไลน์ พบว่า เป็นของปลอม หรือไม่ได้คุณภาพ เบื้องต้นให้ติดต่อไปยังผู้ขายเพื่อขอคืนสินค้า ตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 33 – 36 ซึ่งกำหนดระยะเวลาและวิธีการสรุปได้ดังนี้

  • ใช้สิทธิขอคืนสินค้าภายใน 7 วัน
  • รวบรวมหลักฐานการชำระเงิน เช่น คำสั่งซื้อสินค้า ข้อความสนทนา และสลิปการโอนเงินต่าง ๆ
  • ผู้บริโภคส่งสินค้าคืนไปยังร้านค้าหรือผู้ประกอบธุรกิจ ภายใน 7 วัน
  • ร้านค้าหรือผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินให้ผู้บริโภคภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้าคืนหากไม่คืนเงินตามกำหนดต้องเสียเบี้ยปรับให้กับผู้บริโภค

แต่ในกรณีที่ผู้ขายไม่ยอมคืนสินค้า สามารถร้องทุกข์มายัง สคบ. ได้ผ่านช่องทางดังนี้ 

  • ร้องเรียนด้วยตนเองที่ สคบ. ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
  • เว็บไซต์ สคบ.
  • สายด่วน สคบ. 1166
  • แอปพลิเคชัน OCPB Connect 

 

สำหรับการร้องเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ มีวิธีดังนี้

  • เข้าไปที่แอปฯ OCPB Connect หรือ เว็บไซต์ สคบ.
  • เข้าระบบร้องทุกข์ เมนู ร้องทุกข์และตรวจสอบสถานะ
  • ลงทะเบียน ด้วยชื่อ-นามสกุล และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน
  • กำหนดรหัสใช้งาน
  • เข้าใช้งานด้วยเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน และรหัสผ่านที่กำหนด
  • กรอกชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของผู้ร้องทุกข์ 
  • กรอกชื่อผู้ประกอบการที่ถูกร้องทุกข์ 
  • แจ้งรายละเอียดเรื่องร้องทุกข์
  • แนบไฟล์เอกสารหลักฐานประกอบ
  • ตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด 
  • กดส่งเรื่องร้องทุกข์
  • ผู้ร้องจะได้รับเลขร้องทุกข์สำหรับติดตามการดำเนินการ

 

ส่วนบทลงโทษของผู้ประกอบการ หากมีการจำหน่ายและการโฆษณาผ่านทางช่องทางออนไลน์ โดยไม่ขออนุญาตอย่างถูกต้อง มีความผิดฐานโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 

 

ส่วนผู้ที่ขายชุดตรวจ ATK ที่ทำเลียนแบบหรือลวงให้เข้าใจผิดเรื่องชื่อ คุณภาพ หรือแสดงว่าเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ได้รับอนุญาต ซึ่งมิใช่ความจริง เป็นความผิดฐานขายเครื่องมือแพทย์ปลอม มีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

 

สคบ. จึงขอแนะนำผู้บริโภคหากคิดจะเลือกซื้อชุดตรวจโควิด ควรเลือกซื้อจากสถานที่ที่มีการแนะนำ อย่าเห็นแต่ของราคาถูกเพราะ อาจจะได้สินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน เสี่ยงต่อการแปลผลผิดพลาดด้วย