เฮ! แรงงานไทยทำงานซาอุฯ มีกม.คุ้มครองแล้ว

28 มี.ค. 2565 | 20:29 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2565 | 04:52 น.

แรงงานไทยเฮ!!‘สุชาติ’ รมว.แรงงาน ลงนามข้อตกลง 2 ฉบับ จัดหาแรงงานไปทำงานซาอุฯ เรียบร้อย ตัดปัญหาการหักค่าใช้จ่ายจากการตัดเงินเดือนแรงงาน พร้อมมีการบังคับใช้กฎระเบียบ สัญญาจ้างงานระหว่างกันที่เป็นธรรม

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ขานรับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างประเทศไทย และซาอุดิอาระเบียอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งดำเนินการขับเคลื่อนการส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุดิอาระเบียให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ด้วยการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำความตกลงด้านแรงงานระหว่างสองประเทศ 

 

การเตรียมความพร้อมในการพัฒนากำลังแรงงานให้ตรงกับความต้องการของนายจ้างและสถานประกอบการของซาอุดีอาระเบีย และการดำเนินการรับสมัครคนงานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย จนนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงด้านแรงงาน 

ในวันนี้ (28 มีนาคม 2565)นายสุชาติและคณะจึงได้เดินทางมาลงนามในความตกลงดังกล่าว จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ฉบับแรก คือความตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และอีกฉบับเป็นความตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานในบ้านระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

 

สาระสำคัญของความตกลงด้านแรงงานทั้งสองฉบับนี้ เป็นการกำหนดกระบวนการจัดหางานตามกฎหมายของคู่ภาคีตั้งแต่การจัดหาจนถึงการส่งกลับประเทศ ให้ความสำคัญลำดับแรกกับการจัดหาแรงงาน จัดการหรือกำกับโดยรัฐบาลของประเทศคู่ภาคี 

ทั้งนี้ หากต้องจัดหาแรงงานโดยหน่วยงานจัดส่งที่ได้รับการจดทะเบียนและมีจริยธรรม มีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด ห้ามหักค่าใช้จ่ายจากการตัดเงินเดือนของแรงงาน และมีการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการคุ้มครองแรงงานที่เคร่งครัด ทั้งสองประเทศต้องร่วมมือกันเร่งรัดการยุติปัญหาอันเกิดจากการปฏิบัติตามและการบังคับใช้บทบัญญัติแห่งข้อตกลงทั้งสองฉบับนี้

 

การลงนามความตกลงด้านแรงงานครั้งนี้ นับเป็นก้าวประวัติศาสตร์สำคัญที่จะทำให้การจัดหาแรงงานไทยไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยคำนึงถึงพันธกรณีระหว่างประเทศด้านแรงงานของทั้งสองประเทศ และความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ปกป้องคุ้มครองสิทธิของนายจ้างและแรงงาน รวมถึงการบังคับใช้กฎระเบียบ สัญญาจ้างงานระหว่างกันที่เป็นธรรม แรงงานได้รับค่าจ้าง สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย 

 

รวมทั้งจะทำให้ภาคแรงงานของไทยสามารถเดินทางกลับซาอุฯ ได้อีกครั้ง ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการทำงานให้แรงงานไทยรวมถึงช่วยพัฒนาทักษะแรงงานไทย ต่อยอดไปยังความร่วมมือด้านอื่น ๆ และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย