"หมอ"กุมขมับ โอดปวดหัวกว่า"รักษาโควิด" ก็เรื่อง"เคลมประกันชีวิต"นี่แหละ

25 มี.ค. 2565 | 10:24 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2565 | 21:40 น.
930

ชมรมแพทย์ชนบท แจงยิบปวดหัวกว่ารักษาโควิด ก็เรื่องเคลมประกันชีวิตนี่แหละ ทั้ง เจอจ่ายจบ ประกันจ่าย ก็จบ ไม่จ่ายไม่จบก็ฟ้อง ร้องเรียนกันไป ส่วนประกันวันนอน กำหนดเงื่อนไขเพิ่มมากมายจนหมอปวดหัว

ชมรมแพทย์ชนบทโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่าเรื่อง ปวดหัวกว่าเรื่องรักษาโควิด ก็เรื่องการเคลมประกันชีวิตนี่แหละ

 

ประกันชีวิตที่เกี่ยวกับโควิดมี 2 ประเภทใหญ่ คือ 

 

1. เจอจ่ายจบ  อันนี้ตรงไปตรงมา พอตรวจ ATK เจอ ก็มาตรวจซ้ำให้มีหลักฐาน RTPCR แล้วส่งบริษัทประกัน ประกันจ่าย ก็จบ ไม่จ่ายไม่จบก็ฟ้อง ร้องเรียนกันไป

 

2. ประกันวันนอน อันนี้แหละที่เวียนหัวมาก  เพราะมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มมากมาย ที่จะไม่จ่าย หรือเลี่ยงการจ่าย ซึ่งล้วนเป็นข้อกำหนดเพิ่มเติมภายหลังสัญญาเดิมเป็นส่วนใหญ่  ชวนให้หมอปวดหัวยิ่ง

 

เงื่อนไขเพิ่มเติม  ที่กำหนดมาก็เช่น 

 

  •  นอนรักษาตัวใน CI ไม่จ่าย ทั้งๆที่ CI นั้นๆเป็น CI ในกำกับของโรงพยาบาล ไม่ใช่ของท้องถิ่นหรือชุมชน และคนสั่งให้ไปนอน CI ก็คือแพทย์เพราะเตียงของโรงพยาบาลนั้นเต็ม
  • มีการกำหนดอาการว่าต้องไข้สูงเกิน 39 องศา ออกซิเจนต่ำ อาการสีเหลืองสีแดง เท่านั้นจึงจ่าย  แม้จะเป็นผู้ป่วยในนอนในโรงพยาบาลแต่เป็นสีเขียวก็ไม่จ่าย

 

คนไข้มาบ่นที่โรงพยาบาลเยอะมาก  บอกว่าประกันไม่จ่าย ทั้งๆที่เป็นประกันวันนอน ชดเชยความสูญเสียจากการนอนโรงพยาบาล นอนโรงพยาบาลแล้ว หรือนอน CI ของโรงพยาบาล นอนจริง แต่ประกันก็บ่ายเบี่ยงไม่จ่าย    

 

แนวคิดประกันวันนอนสมัยก่อนโควิด ก็ตรงไปตรงมา มึนหัว ท้องเสีย แพ้ท้อง อาการมากน้อย ถ้าได้รับตัวไว้นอนโรงพยาบาล ประกันจ่ายไม่มีปัญหา   แต่ยุคโควิด กลับมาตั้งเงื่อนไขว่า ต้องป่วยหนักเท่านั้นจึงจ่าย ซึ่งไม่ถูกต้อง

 

ส่วน คปภ.ซึ่งเป็นหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ก็กลายร่างไปปกป้องคุ้มครองบริษัทประกันภัยไปเสียแล้ว

 

นี่ไม่ใช่ความรู้สึกของแพทย์ชนบทเท่านั้น  แต่นี่คือความรู้สึกและเสียงสะท้อนจากทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการทั้งประเทศ  ที่แพทย์ชนบทจำต้องสะท้อนออกมาดังๆ  เพื่อความเป็นธรรมที่หายากยิ่งในสังคมไทย 
 

เป็นโควิด มีประกันชีวิตประเภทชดเชยวันนอน แต่ตั้งเงื่อนไขจนเบิกชดเชยยากหรือเบิกชดเชยไม่ได้ มันเอาเปรียบผู้ทำประกันเกินไปนะ