คปภ. จ่อสั่งปิด “อาคเนย์-ไทยประกันภัย”

24 มี.ค. 2565 | 16:04 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2565 | 23:04 น.
13.4 k

วงในเผย อีก 1-2 เดือน คปภ.สั่งปิด 2 บริษัท“อาคเนย์-ไทยประกันภัย” หวั่นสร้างความโกลาหลเหตุกระบวนการเคลมสินไหมไม่ได้ตามนัด เฉพาะเอเซียประกันภัย มีผู้ถือกรมธรรม์ไม่ได้รับค่าสินไหมอื้อ

วิกฤตโควิด-19 ยังสร้างความเดือดร้อนกับประชาชนผู้ซื้อประกันโควิดกับบริษัทประกันวินาศภัย โดยเฉพาะบริษัท เอเซียประกันภัย 1950 จำกัด(มหาชน) ที่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพิกถอนใบอนุญาตและปิดกิจการไปตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 พร้อมแต่งตั้งให้ “กองทุนประกันวินาศภัย” เป็นผู้ชำระบัญชี

คปภ. จ่อสั่งปิด “อาคเนย์-ไทยประกันภัย”

ที่ผ่านมากองทุนประกันวินาศภัยได้ประกาศให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยและเจ้าหนี้อื่นของ บมจ.เอเซียประกันภัย 1950 ยื่นขอรับชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 แต่ปัจจุบันยังคงมีผู้เอาประกันไปยื่นเรื่องต่อกระทรวงการคลัง เพราะส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเงินค่าสินไหมจากกองทุนประกันวินาศภัยและบางส่วนยังคงเดินทางยืนคำร้องต่อคปภ.ด้วย โดยผู้เอาประกันภัยของบมจ.เอเซียประกันภัย มีประมาณ 4,000 ราย วงเงินราว 4,500 ล้านบาท

แหล่งข่าวเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระบวนการเคลมค่าสินไหมของกองทุนประกันวินาศภัยล่าช้า ส่วนหนึ่งเพราะเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอกับปริมาณกรมธรรม์ ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้เอาประกันภัยย่อมมีความเดือดร้อน เพราะปัจจุบันมีเพียงผู้เอาประกันของ บมจ.เอเซียประกันภัย เพียงรายเดียว แต่ยังจ่ายแบบกระปริบกระปรอย ต่อเดือนทำได้เฉลี่ย 1,000 รายก็ถือว่าเก่งแล้ว

คปภ. จ่อสั่งปิด “อาคเนย์-ไทยประกันภัย”

 

ขณะนี้มีประชาชนผู้ถือกรมธรรม์ที่ยังรอเคลมอีกจำนวนมาก ซึ่งหากมองไประยะข้างหน้า ยังมีกรณีของ บมจ.เดอะวันประกันภัย ซึ่งอยู่ระหว่างเปิดรับคำขอรับชำระหนี้ของลูกหนี้และเจ้าหนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 21 เมษายน 2565 หลังจากเปิดรับคำขอมาตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ซึ่งเมื่อครบกำหนดปิดรับ ก็จะมีผู้เอาประกันเพิ่มเข้ามาไม่น้อยกว่า 4,000 ราย ซึ่งในวงการเห็นตรงกันว่า กระบวนการจ่ายเคลมค่าสินไหมจะโกลาหลแน่

“ภายใต้สถานการณ์ที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่อวันเพิ่มในระดับสูง หากหลังจากนี้หรือหลังเทศกาลสงกรานต์ ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จะยิ่งกดดันการทำงานบริษัทประกันวินาศภัย รวมถึงกองทุนประกันวินาศภัยที่จะต้องรับมือการปิดกิจการ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อีก 1-2 เดือนข้างหน้าจะมีเหตุุการณ์เพิกถอนใบอนุญาตบริษัทประกันภัยอย่างน้อย 2 บริษัท” แหล่งข่าวกล่าว

 

ทั้งนี้ เห็นได้จากกรณีที่คปภ. มีคำสั่งให้บมจ.อาคเนย์ประกันภัย,ไทยประกันภัย หยุดรับประกันชั่วคราว หลังจากนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ 2 บริษัทจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือปิดกิจการตามที่ได้ร้องขอในที่สุด ซึ่งกองทุนประกันวินาศภัย ก็ต้องรับบทผู้ชำระบัญชีต่อไป หากแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังอยู่ในภาวะเลวร้าย เพราะคนติดเชื้อง่ายขึ้น ทุกบริษัทต้องหาวิธีรับมือ

 

ส่วนกรณีที่ผู้เอาประกันภัยโควิด-19 ของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) รวมตัวเรียกร้องให้จ่ายค่าสินไหมหรือค่าชดเชยรายได้จาการติดเชื้อโควิด-19 ที่คปภ.สำนักงานใหญ่เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถูกมองว่า เป็นปัญหาจากการเคลมสินไหมประกันภัยโควิด-19 นั้น

 

ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ในประเด็นดังกล่าวว่า ผู้มาประท้วงส่วนใหญ่ เป็นผู้ป่วยสีเขียวเกือบ 100% คือ ติดเชื้อโควิด-19 จริงและพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านและชุมชน HI และ CI: Home Isolation และ Community Isolation ซึ่งลักษณะนี้จะไม่ได้รับเงินชดเชย

ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย

ดร.สมพรกล่าวว่า บริษัทพยายามชี้แจงทำความเข้าใจและขอให้แยกกลุ่มเช่น กลุ่มผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม, กลุ่มผู้ป่วยที่รักษาตัวในฮอสพิเทลและกลุ่มผู้ป่วยที่รักษาตัวใน HI หรือ CI ซึ่ง 3 กลุ่มจะมีเงื่อนไขจ่ายชดเชยแตกต่างกัน โดยกลุ่มที่รักษาตัวในโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนามจะเข้าข่ายความคุ้มครอง แต่ขึ้นกับเหตุผลความจำเป็นทางการแพทย์ด้วย

 

ส่วนกลุ่มรักษาตัวที่ฮอสพิเทล และโดยเฉพาะกลุ่ม HI และ CI นั้น เป็นกลุ่มสุดท้าย เราชี้แจงว่า เปรียบเสมือนผู้ป่วยนอก รักษาตัวที่บ้านหรือฮอสพิเทล แต่บริษัทพร้อมจะพิจารณาอนุโลมจ่ายให้หากผู้ป่วยโควิดกลุ่มนี้เข้าข่ายภาวะเสี่ยงตามเงื่อนไขที่ตกลงกับ คปภ.ซึ่งทราบว่ามีผู้ลงชื่อให้ทบทวนสิทธิ 30%จากกว่า 200 คน

 

“ทั้งเกณฑ์ภาวะเสี่ยงตามเงื่อนไขที่ตกลงกับคปภ.กับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข จริงๆ ล้อไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแฟร์กับบริษัทประกัน เพราะถ้าบอกว่า HI และ CI ต้องได้รับเงินชดเชย กรมธรรม์นี้จะกลายเป็นแบบเจอจ่ายจบ เพราะผู้ป่วยทุกรายที่ตรวจพบเชื้อโควิด กระทรวงสาธารณสุขให้กักตัวอยู่แล้ว แต่เจตนารมย์ของทิพยคือ ต้องโคม่าและมีอาการป่วยจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ซึ่งบริษัทยึดหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นแนวทางมาตรฐานในการวินิจฉัยทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถใช้พิจารณาแนวทางเดียวกัน"ดร.สมพรกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ออกหลักเกณฑ์ในการได้รับสิทธิค่ารักษาพยายาล แต่ในกรมธรรม์ของบริษัทได้กำหนดความคุ้มครองผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่จะต้องได้รับการรักษาเป็นผู้ป่วยในตามแนวเวชปฎิบัติที่บังคับใช้ในขณะนั้นคือ ใช้แนวธรรมดาทั่วไป แต่พอมีโควิด-19 จึงออกมาเพิ่มเติมเฉพาะโรค ซึ่งแพทย์ จะต้องระบุความจำเป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน

 

ดังนั้นถ้าลูกค้าอยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองทิพย พร้อมจ่ายหมด โดย 2 ปีที่ผ่านมา ทิพยรับประกันภัย 4 ล้านฉบับ ทยอยครบกำหนดและจ่ายเคลมไปแล้วมากกว่า 3,680 ล้านบาทคงเหลืออีกประมาณ 1.6-2 ล้านฉบับที่จะครบสัญญาเดือนพ.ค.2565

 

สำหรับแนวโน้มบริษัทประเมินว่า ผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่อาการป่วยหนักถ้าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนโอกาสที่จะมีอาการหนักประมาณ 10% ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งบริษัทพร้อมดูแลลูกค้าทุกรายที่ได้รับความคุ้มครอง

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,768 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2565