วัคซีนโควิดสูตรไหนมีประสิทธิผลอย่างไร แบบไหนป้องโอมิครอนได้ดี เช็คเลย

15 ม.ค. 2565 | 12:09 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2565 | 22:44 น.
1.9 k

วัคซีนโควิดสูตรไหนมีประสิทธิผลอย่างไร แบบไหนป้องโอมิครอนได้ดี อ่านครบจบที่นี่ ชี้ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์สามารถป้องกันโอมิครอนได้ 80-90%

การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ขณะนี้ฉีดสะสม 108.5 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 51.6 ล้านคน ครอบคลุมประชากร 76.92% เข็มสอง 47.2 ล้านคน ครอบคลุม 70.32% และเข็มสาม 9.15 ล้านคน ครอบคลุม 13.63%

 

 

โดยจะพยายามเร่งฉีดเข็ม 3 ในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ให้ถึง 50% ภายใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งจะทำให้ประเทศมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีกระดับ

 

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคติดตามประเมินประสิทธิผลวัคซีนโควิด 19 ในพื้นที่จริง ตั้งแต่ช่วงสิงหาคม - ธันวาคม 2564 จากการฉีดวัคซีนสูตรต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ใน 4 พื้นที่ ซึ่งแต่ละช่วงเวลามีการระบาดของสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้ 

 

 

 

  • ภูเก็ต ช่วงเดือนสิงหาคมมีสายพันธุ์อัลฟา 
  • กทม. ช่วงกันยายน-ตุลาคม มีทั้งอัลฟาและเดลตา 
  • เชียงใหม่ ช่วงธันวาคม มีสายพันธุ์เดลตา
  • กาฬสินธุ์ ช่วงธันวาคม มีสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์พบว่า 

 

 

 

  • วัคซีนทุกสูตรมีประสิทธิผลป้องกันอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตสูงประมาณ 90-100% 
  • ส่วนการป้องกันการติดเชื้อมีประสิทธิผลสูงพอสมควร แต่จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป 
  • การฉีดเข็มกระตุ้นหรือการฉีดสูตรไขว้ จะเพิ่มประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อให้สูงขึ้น จึงช่วยควบคุมการระบาดได้ดี 
  • ผู้ที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายและรับเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์ พบว่ามีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการเสียชีวิตสูงไม่แตกต่างกัน 
  • การรับเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์สามารถป้องกันโอมิครอนได้ 80-90%

 

 

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

 

 

"การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงเป็นนโยบายสำคัญ โดยผู้ที่ได้รับสูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้าครบช่วงสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ให้ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก  ผู้ที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มช่วงสิงหาคม-ตุลาคม 2564 จะกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ และผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ยืนยันว่าขณะนี้วัคซีนมีเพียงพอ" 

นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตั้งแต่ปีใหม่ 2565 จนถึงวันนี้ มีสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาระบาดในประเทศ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ความรุนแรงของโรคลดลง ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจและเข้าไอซียูไม่ได้เพิ่มมากขึ้น ผู้เสียชีวิตอยู่ในช่วงขาลงไม่เกิน 20 รายต่อวัน 

 

 


ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ต่างๆ สอดคล้องกันว่า เชื้อสายพันธุ์โอมิครอนติดง่ายแต่รุนแรงไม่เท่าเดลตา โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนข้อเสนอจากคณะแพทย์ สถาบันการแพทย์ต่างๆ ที่ให้มีมาตรการที่ประชาชนจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขมากที่สุด

 

 

 

และเมื่อสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอ ศบค.ผ่อนคลายมาตรการให้มากที่สุดและเร็วที่สุด และพร้อมเสนอมาตรการเพิ่มหากมีสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน