โอมิครอนในไทยติดแล้ว 70.3% หมอเฉลิมชัยชี้กลายเป็นสายพันธุ์หลักแทนเดลตา

12 ม.ค. 2565 | 03:11 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2565 | 04:30 น.
6.3 k

โอมิครอนในไทยติดแล้ว 70.3% หมอเฉลิมชัยชี้กลายเป็นสายพันธุ์หลักแทนเดลตา คาดอีก 2 เดือนครอบคลุมกว่า 90% พร้อมแนะแนวทางรับมือ และมาตรการสำคัญ

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

 

โอมิครอน เป็นสายพันธุ์หลักของประเทศไทยแล้ว ครอบคลุม 70.3%  โดยแซงเดลต้าที่พบเพียง 29.7%

 

 

จากการประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) เป็นกลุ่มไวรัสที่น่าเป็นกังวล (VOC) เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2564
หลังจากนั้น ทั่วโลกก็ประสบกับการแพร่ระบาดที่รวดเร็วและกว้างขวางมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

 

 

ผ่านไปเพียงหนึ่งเดือนเศษ มีประเทศที่ติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนไปแล้วมากกว่า 100 ประเทศ
 

สำหรับประเทศไทย เริ่มมีรายงานผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาหนึ่งเดือน พบผู้ติดโอมิครอนไปแล้ว 5397 ราย

 

 

โดยเมื่อดูสัดส่วนระหว่างไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนกับเดลตา จะพบว่านับจากช่วงเปิดประเทศคือ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึง 9 มกราคม 2565 พบโอไมครอน 35.17% และเดลตา 76.71%

 

 

แต่เฉพาะในสัปดาห์ล่าสุด วันที่2-8 มกราคม 2565 พบโอมิครอนมากถึง  70.3%  และเดลต้า 29.7%

 

 

จึงสามารถสรุปได้ชัดเจนแล้วว่า ไวรัสโอมิครอนเป็นไวรัสสายพันธุ์หลักของประเทศไทย และได้แซงไวรัสสายพันธุ์เดลต้าไปเรียบร้อยแล้ว ภายในเวลาเพียงแค่หนึ่งเดือน

 

 

และคาดว่าภายใน 2 เดือน ไวรัสโอมิครอนน่าจะเป็นสายพันธุ์หลักมากกว่า 90% เช่นเดียวกับที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตาเคยแซงอัลฟามาแล้วในอดีต

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น การรับมือกับโควิดระลอกใหม่หรือระลอกที่ 4 นับจากนี้ จึงต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสโอมิครอนเป็นหลัก ได้แก่

 

 

  • โอมิครอนแพร่เร็วกว่าเดลตา 2-5 เท่า จากการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมที่สร้างหนามมากกว่าเดลต้า 3.5 เท่าคือ 32:9 ตำแหน่ง
  • ไวรัสโอมิครอนก่อโรคที่มีอาการรุนแรง และทำให้เสียชีวิตน้อยกว่าไวรัสเดลต้า เกิดจากไวรัสโอมิครอนมักติดเชื้อเฉพาะทางเดินหายใจส่วนต้นเป็นหลัก ไม่ค่อยลงปอดลง จึงไม่ค่อยมีปอดอักเสบ
  • ไวรัสโอมิครอนดื้อต่อวัคซีนทุกชนิด โดยเฉพาะกรณีฉีดวัคซีนครบสองเข็ม จะป้องกันการติดเชื้อได้น้อยกว่า 50%  แต่ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการรุนแรงและการเสียชีวิตได้ดี

 

 

จากความรู้เกี่ยวกับไวรัสโอมิครอนดังกล่าว มาตรการสำคัญที่จะรับมือจึงประกอบด้วย

 

 

  • เร่งทำให้ประชาชนทราบเรื่องไวรัสโอมิครอน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เหมาะสม เพียงพอ และทันสมัย จะได้ปรับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต การป้องกันตนเอง ทั้งในเรื่องการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกจากบ้าน การหลีกเลี่ยงทานอาหารร่วมกับบุคคลภายนอก ตลอดจนการหลีกเลี่ยงอยู่ในที่แออัดระบายอากาศไม่ดี
  • เร่งทำความเข้าใจว่า จะต้องมีการสำรองเตียงในโรงพยาบาลหลัก เพื่อรับผู้ป่วยโควิดอาการหนัก เพื่อลดการเสียชีวิตลง โดยผู้ที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ขอให้อยู่กักตัวที่บ้าน( HI : Home Isolation ) เพื่อที่จะได้มีเตียงในโรงพยาบาลหลักเพียงพอที่จะรับผู้ป่วยอาการหนัก แม้จะมีสัดส่วนผู้ป่วยหนักต่อผู้ติดเชื้อไม่มากนัก เนื่องจากโอมิครอนไม่ค่อยรุนแรง แต่จะมีจำนวนทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตามสัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น
  • เร่งฉีดวัคซีนเข็มสามให้ได้อย่างน้อย 50 ล้านคน ทั้งนี้หมายรวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 ในเด็กอายุ 5-17 ปีด้วย เพื่อให้การระบาดชะลอตัวลง และจะเป็นการลดการป่วยหนักหรือเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญต่อไป

 

 

ทั้งนี้ โอมิครอนเป็นไวรัสที่มีความสามารถในการระบาดเร็วที่สุดในโลกในบรรดาสายพันธุ์ต่างๆ ของไวรัสก่อโรคโควิด

 

 

แต่เราก็ยังไม่อาจจะวางใจได้ว่า จะไม่มีไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่เพิ่มเติมขึ้นมาในอนาคต

 

 

สิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้คือ

 

 

  • เร่งหาความรู้ จนมีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอและถูกต้อง
  • มีทัศนคติและพฤติกรรมที่เหมาะสมถูกต้อง ในการรับมือกับโรคระบาด
  • ร่วมมือกันทุกคนทุกฝ่าย ในการรับมือโรคโควิดอย่างมีความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติ และพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสม