วัคซีนต้านโควิด-19 หมอศิริราชรีวิวแต่ละประเภท แพ้มาก-น้อยอย่างไร เช็คเลย

13 ม.ค. 2565 | 03:11 น.

วัคซีนต้านโควิด-19 หมอศิริราชรีวิวแต่ละประเภท แพ้มาก-น้อยอย่างไร สรุปครบจบที่นี่ แนะรัฐส่งเสริม และจัดหาชุดตรวจในราคาเหมาะสมให้มีใช้เพียงพอ

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า 

 

 

ในยามที่ประเทศขาดแคลนข่าวดี ทั้งเรื่องสัตว์ป่วยล้มตายกันจนผู้เลี้ยงหมดตัวไปหลายเจ้า แต่หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเพิ่งตื่นมาทำแข็งขัน หรือคนป่วยจากโอมิครอน (Omicron) มากขึ้น

 

 

แต่การรายงานยอดผู้ป่วยอาจไม่ตรงกันในมุมมองของบุคลากรของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยกับกลุ่มที่ทำหน้าที่ควบคุมโรค ทั้งสองเรื่องคงต้องใช้การถกเถียงแลกเปลี่ยนในเชิงวิชาการเพื่อหาข้อสรุปไม่ให้ประชาชนสับสน โดยละวางอคติจากตำแหน่งหน้าที่หรือหัวโขนที่มีผู้สวมให้อยู่ชั่วคราว

ลองมาดูข่าวดีส่วนตัวกันบ้าง วันนี้ขอเป็นรีวิวเวอร์สักวัน เที่ยงวันนี้ครบ 24 ชั่วโมงสำหรับการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า อาการเจ็บในตำแหน่งที่ฉีดให้ 2 เต็ม 4 (ของซิโนแวคให้ 1 ส่วนของไฟเซอร์ให้ 3) กลับไปบ้านออกกำลังกายและกินอาหารได้ตามปกติ เข้านอนมีอาการอืดท้องเล็กน้อย ฝันบ่อยจนตื่นหลายครั้งแต่กลับไปหลับต่อได้ไม่ยาก

 

 

ตื่นนอนเช้าปวดเมื่อยตัวเล็กน้อยให้ 1 เต็ม 4 (ของซิโนแวคให้ 0 ส่วนของไฟเซอร์ให้ 0) รู้สึกไม่สดชื่นหลังติ่นนอนเหมือนปกติ อาจจากนอนหลับได้ไม่ดี (nonrestorative sleep) ให้ 1 เต็ม 4 (ของซิโนแวคให้ 0 ส่วนของไฟเซอร์ให้ 0) โดยรวมตอนกลางวันไม่มีความผิดปกติใดเป็นพิเศษ รอลุ้นผลระยะยาวอีก 2-4 สัปดาห์

 

 

ในบรรดาวัคซีนโควิดที่มีใช้ในโลก วัคซีนประเภทแรก ทำจากเชื้อตายที่บ้านเรามีใช้คือของซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ใช้เทคโนโลยีโบราณ ทำได้เร็วและทำได้มาก ป้องกันติดพอใช้แต่ป้องกันตายได้ดี อาการแพ้เกิดขึ้นน้อย ที่หนักจนถึงตายได้คือ อาการแพ้รุนแรงจนช็อค (anaphylactic shock) พบได้น้อยมากๆ บ้านเราเท่าที่ทราบน่าจะมีเพียง 2 รายจากการฉีดไปหลายสิบล้านโดส 

หลายประเทศทั่วโลกรวมบ้านเราด้วยจัดให้เป็นวัคซีนหลักตั้งแต่การระบาดระลอกสอง (จากเชื้อสายพันธุ์ G หรือ GH) เป็นต้นมา เมื่อผลิตเองและซื้อวัคซีนประเภทอื่นได้มากขึ้นในช่วงต้นของการระบาดระลอกสี่จากเดลตา บ้านเราจึงจัดให้เป็นวัคซีนทางเลือก สำหรับกลุ่มคนที่แพ้วัคซีนหลักหรือกลุ่มคนเฉพาะ เช่นแรงงานต่างชาติ ถ้าวัคซีนหลักขณะนั้นมีไม่เพียงพอสำหรับคนในประเทศ วัคซีนประเภทนี้องค์การเภสัชกรรมของเราสามารถผลิตใช้ได้เองในปีนี้

 

 

วัคซีนประเภทที่สอง ทำจากเชื้อไวรัสอื่นโดยฝากชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของโควิดไป (viral vector) ที่บ้านเรามีใช้คือของแอสตร้า ใช้เทคโนโลยีปัจจุบัน ขณะนี้ผลิตได้เองในประเทศโดยบริษัทเอกชนในปริมาณมากพอจนส่งออกได้ ป้องกันติดและป้องกันตายได้ดี อาการแพ้เกิดขึ้นบ่อยกว่าประเภทแรก ที่หนักจนถึงตายได้คือ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำและลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด พบได้น้อยมากๆ บ้านเราเท่าที่ทราบน่าจะมีเพียง 2 รายจากการฉีดไปหลายสิบล้านโด๊สเช่นกัน หลายประเทศทั่วโลกรวมบ้านเราด้วยจัดให้เป็นวัคซีนหลัก

 

 

 

วัคซีนประเภทที่สามผลิตด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคตแต่ถูกเร่งนำมาใช้ในปัจจุบันเพราะโควิด เป็นการสังเคราะห์ชิ้นส่วนพันธุกรรมของไวรัส (messenger RNA, mRNA) แล้วฝากไปกับอนุภาคนาโน (nanoparticles) ในรูปของ liposome  ที่บ้านเรามีใช้คือของไฟเซอร์และโมเดิร์นนา 

 

 

หมอศิริราชรีวิววัคซีนแต่ละประเภท

 

 

ภายในปีนี้น่าจะผลิตได้เองในประเทศโดยหน่วยงานในกำกับของรัฐ ป้องกันติดและป้องกันตายได้ดีมาก แต่ลดลงพอควรสำหรับโอไมครอน อาการแพ้ในระยะสั้นเกิดขึ้นใกล้เคียงกับวัคซีนประเภทที่สอง ที่หนักและห่วงกันในอนาคตคือ การเกิดโรคต่อต้านภูมิต้านทานตัวเอง และโรคกลุ่มมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คงต้องติดตามดูกันในระยะยาวต่อไป หลายประเทศทั่วโลกรวมบ้านเราด้วยจัดให้เป็นวัคซีนหลักโดยเฉพาะในเด็ก

 

 

 

วัคซีนประเภทที่สี่ เป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่เดิมใช้อยู่แล้วสำหรับการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยการสังเคราะห์ชิ้นส่วนโปรตีนที่จำเพาะของไวรัสในการกระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกัน ภายในปีนี้น่าจะผลิตได้เองในประเทศโดยบริษัทเอกชน ที่ใช้เทคนิคการฝากให้ใบยาสูบผลิตโปรตีนเป็นจำนวนมากแทนการใช้เซลล์ของสัตว์เหมือนในต่างประเทศ

 

 

ผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่าปลอดภัยและกระตุ้นภูมิได้ดีไม่ต่างจากวัคซีนประเภทที่สาม ในอนาคตน่าจะเป็นวัคซีนหลักทั่วโลกเช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีนี้กันแพร่หลายในปัจจุบัน

 

 

กลยุทธ์ในการบริหารจัดการวัคซีนของบ้านเรา นอกจากการผลิตและซื้อมาใช้ให้เพียงพอแล้ว ควรให้มีความหลากหลายสำหรับใช้สูตรไขว้ (mix-and-match) เพื่อสะดวกในการบริหารจัดการและยังกระตุ้นภูมิได้ดีกว่าการฉีดวัคซีนประเภทเดียวกันซ้ำๆ ในปีนี้คงเห็นบ้านเราผลิตวัคซีนโควิดได้เองครบทั้งสี่ประเภท

 

 

นับเป็นความมั่นคงทางสุขภาพที่ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันฝ่าฟันมา แม้ในระหว่างทางอาจมีความเห็นต่างในการบริหารจัดการ แต่ก็ไม่บานปลายจนกำลังจะได้เห็นแสงสว่างชัดเจนมากที่ทางออกจากอุโมงค์ 

 

 

หมอศิริราชรีวิววัคซีนแต่ละประเภท

 

 

 

ที่เผยแพร่กันอยู่ตอนนี้ในข่าวของสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ว่าในสิงคโปร์ผู้ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดไม่ครบแล้วเสียชีวิตจากโควิดจำนวน 247 รายจากผู้เสียชีวิตจากโควิดทั้งหมด 802 ราย  สัดส่วนการเสียชีวิตเรียงจากมากไปน้อย คือ วัคซีนของซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ และโมเดิร์นนา ตามลำดับ

 

 

เรื่องนี้ขอให้ฟังหูไว้หู เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยยังน้อย กลุ่มที่เสียชีวิตสูงในวัคซีนบางประเภทอาจเป็นเพราะเป็นกลุ่มที่โอกาสเข้าถึงระบบสุขภาพน้อยกว่า เช่น แรงงานต่างชาติ คงต้องรอข้อมูลที่เผยแพร่ในทางวิชาการ เดี๋ยวจะเหมือนข่าวโคมลอยเรื่องเดลตาครอน

 

 

 

ส่วนใครจะเลือกสูตรไขว้แบบไหนพอดีไม่ได้ค่าโฆษณา โปรดใช้วิจารณญาณส่วนบุคคล และขอให้เชื่อมั่นในสิ่งที่เราเลือกโดยรอบคอบหรือปรึกษาคนที่เราไว้ใจ ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเรา อย่าหวั่นไหวกับเสียงนกเสียงกา เปรียบเหมือนการไปเที่ยวเป็นกลุ่มแล้วแยกกันช้อปปิ้งสินค้า มักจะมีการมาเกทับกันภายหลังว่าได้ของถูกกว่าหรือดีกว่า ไม่มีอะไรสมบูรณ์ไปทุกด้าน

 

 

ขอเพียงแต่เราหยั่งรู้ให้ได้มากและปล่อยวางในผลที่ได้หลังจากพิจารณาเลือกอย่างดีแล้ว

 

 

เป็นอีกวันที่ครบรอบตรวจ ATK ประจำสัปดาห์ เลือกวันนี้เพราะตรงกับวันเกิดประจำสัปดาห์ และขอเรียกร้องให้ภาครัฐส่งเสริมและจัดหาชุดตรวจในราคาเหมาะสมให้มีใช้เพียงพอ (นำเสนอไปหลายรอบแล้ว) พร้อมทั้งทบทวนมาตรการนำผลตรวจเข้ามาในระบบการวินิจฉัยโรค แม้ยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงยอดรวมที่ถูกต้อง 

 

 

แต่จำนวนผู้ป่วยหนักวันนี้ยังไม่เพิ่มขึ้นตาม ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันดีเช่นนี้ต่อไป ยอดรวมรายวันจากโอไมครอนที่เป็นหลักแล้ว ไม่ว่าจะรวมแบบไหนไม่น่าถึงสามหมื่น และจำนวนผู้ป่วยหนักก็จะไม่ล้นเกินศักยภาพของโรงพยาบาลที่เตรียมไว้เช่นก่อน เรื่องความขลุกขลักของผู้ป่วยในกทม.เมื่อสัปดาห์ก่อน เป็นเรื่องปกติของหน่วยงานรัฐที่มักออกตัวว่าพร้อมไว้ก่อน

 

 

สัปดาห์นี้น่าจะค่อยๆ ดีขึ้นจนอยู่ตัว เรื่องนี้ช่วยฟ้องว่าในเมืองหลวงของเราที่เป็นจังหวัดที่เจริญสูงสุดด้านการแพทย์ แต่มีระบบบริหารจัดการด้านสาธารณสุขแย่ที่สุดในประเทศ