ผวา! พบโควิดกลายพันธุ์ใหม่ตัวแรกปี 65 ที่ฝรั่งเศส เริ่มต้นยังไง เช็กเลย

01 ม.ค. 2565 | 17:30 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2565 | 00:31 น.
1.4 k

ผวา พบโควิดกลายพันธุ์ใหม่ตัวแรกปี 65 ที่ฝรั่งเศส เริ่มต้นยังไง เช็กเลย หมอเฉลิมชัยชี้ยังไม่พบการแพร่ระบาดที่กว้างขวาง ระบุอาจจะกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่สร้างปัญหาให้กับโลกได้

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ไวรัสกลายพันธุ์ตัวแรกของปี 2565 ยืนยันการพบในฝรั่งเศส ยังไม่พบการแพร่ระบาดที่กว้างขวาง
หลังจากในช่วงปลายปี 2564 สถานการณ์โควิดในระดับโลกกล่าวขวัญกันถึงแต่ไวรัส Omicron (โอมิครอน)
ซึ่งเพียงเดือนเดียว แพร่ระบาดไปกว้างขวางกว่า 100 ประเทศ แม้กระทั่งในประเทศไทย ก็พบผู้ติดเชื้อ Omicron มากกว่า 1000 ราย
และในขณะนี้กำลังพบการแพร่ระบาดในประเทศมากขึ้นเป็นลำดับ กำลังจะมีมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศด้วย
 

อย่างไรก็ดี เราจะพบการรายงานไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ของโคโรนาลำดับที่ 7 ซึ่งก่อโรคโควิด -19 (Covid-19) มาเป็นลำดับ นับถึงปัจจุบัน พบการกลายพันธุ์ไปแล้วมากกว่า1000 สายพันธุ์
เพียงแต่ส่วนใหญ่ มักจะไม่มีผลกระทบทางด้านระบาดวิทยา ทั้งการแพร่เชื้อ ความรุนแรง หรือการดื้อวัคซีนมากนัก
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (1ม.ค.2565) ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ B.1.640.2 ที่พบทางตอนใต้ของฝรั่งเศสตั้งแต่ปลายปี 2564 (ประมาณเดือนพฤศจิกายน) ก็ได้รับการยืนยันในรายละเอียด และรอการตีพิมพ์ในวารสารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยเคสเริ่มต้น (Index case) เป็นชาวฝรั่งเศสซึ่งเดินทางกลับมาจากประเทศแคมเมอรูน และเมื่อตรวจ PCR ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส พบว่ามีลักษณะที่แตกต่างไปจากไวรัสเดลตา ร่วมกับผู้ติดเชื้ออีก 7 ราย ซึ่งต่อมาพบรวมเป็น 67 ราย
ที่น่าสงสัยคือ แถบฝรั่งเศสตอนใต้มีไวรัสเดลตาเป็นสายพันธุ์หลัก เมื่อตรวจพบไวรัสที่มีลักษณะที่ต่างกับเดลตา

พบไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ปี 65

จึงต้องเร่งตรวจว่า เป็นสายพันธุ์อะไรกันแน่
ซึ่งก็พบรายละเอียดว่า ไวรัสใหม่ตัวนี้ มีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งหนามมากถึง 14 ตำแหน่ง ซึ่งมากกว่าเดลตา ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเพียง 9 ตำแหน่ง แต่ยังน้อยกว่า Omicron ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงมากถึง 32 ตำแหน่ง
 

โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คาดว่าน่าจะมีผลกระทบ ทั้งเรื่องการแพร่ระบาด ความรุนแรงของโรค และการดื้อต่อวัคซีน
ตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงนั้น ไปซ้อนทับกับไวรัสสายพันธุ์ เบต้า แกมมาและแลมป์ด้าด้วย
โดยตำแหน่งที่ 501 และ 484 จะซ้ำกับ เบต้า แกมมา และโอมิครอน
ตำแหน่งที่ 490 ซ้ำกับแลมป์ด้า
และตำแหน่งที่ 681 ซ้ำกับแลมป์ด้าและโอมิครอน
ในขณะที่จากการติดตามมาตลอดสองเดือน มีความกังวลว่า สายพันธุ์ดังกล่าวที่พบในตอนใต้ของฝรั่งเศส อาจจะกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่สร้างปัญหาให้กับโลกได้

จับตาไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ปี 65
แต่ในที่สุด สายพันธุ์โอมิครอนก็ปรากฏขึ้น พร้อมกับมีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งที่หนามมากกว่าถึง 2 เท่าตัว
จึงทำให้ Omicron มีความสามารถ ในการแพร่ระบาดมากกว่า จนกระทั่งกลบสายพันธุ์ B.1.640.2 ได้ อย่างน้อยก็ในช่วงนี้
อย่างไรก็ตาม เราคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะถ้าไวรัสสายพันธุ์นี้ เกิดมีการเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์ในตำแหน่งหนามที่มากกว่าโอมิครอนขึ้นมา
ก็จะมีความสามารถในการแพร่ระบาด และอาจกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ของปี 2565 ที่อาจเอาชนะโอมิครอนได้ ซึ่งจะสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ผู้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดของโควิด-19 อีกครั้งหนึ่ง