ประยอม ซองทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เสียชีวิตในวัย 87 ปี

12 ธ.ค. 2564 | 19:28 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2564 | 02:35 น.
1.3 k

อาลัยกวีร้อยกรองแห่งยุค "ประยอม ซองทอง" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เสียชีวิตในวัย 87 ปี เนื่องจากโรคปอดอักเสบ

นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า วงการวรรณกรรมและนักเขียนของประเทศไทยเศร้า เมื่อได้รับรายงานว่า อาจารย์ประยอม ซองทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2548  ได้ถึงแก่กรรมด้วยเนื่องจากปอดอักเสบ เมื่อวันศุกร์ที่ 10  ธันวาคม 2564  เวลา 17.49  น. ณ โรงพยาบาลศิครินทร์ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร สิริรวมอายุ 87 ปี 

 

สำหรับประวัติโดยสังเขปของ อาจารย์ประยอม ซองทอง เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2477  ที่จังหวัดนครพนม เป็นผู้ที่มีความสนใจและประทับใจกับคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองของไทย มาตั้งแต่เยาว์วัย และได้แสดงความสามารถพิเศษด้านการประพันธ์ร้อยกรองอย่างโดดเด่นเมื่อครั้งเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

โดยได้เขียนร้อยกรองที่เต็มไปด้วยความฝันและจินตนาการของกวีที่อ่อนหวานและสะเทือนอารมณ์ ขณะเดียวกันก็แฝงความคิดเห็นต่อสภาพสังคมและเหตุการณ์บ้านเมืองไว้อย่างคมคาย โดยได้สร้างผลงานเป็นอาชีพจนประสบความสำเร็จและเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนมาตลอดต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 60  ปี 

 

ประยอม ซองทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เสียชีวิตในวัย 87 ปี
 

อาจารย์ประยอม ซองทอง มีผลงานปรากฏสู่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นนักกลอนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป ผลงานที่เป็นที่กล่าวขวัญและจดจำกันของนิสิตนักศึกษาและประชาชนในช่วงนั้น ได้แก่ "จะอยู่ไปไย...ถ้า..” "เพื่อและจาก...เพื่อนใจ” "ธารทอง” "ชีวิตเราถ้าเหมือนเรือ” "ไหนศรัทธาอันยืนยง” "กว่าโลกร้อง” "หิ่งห้อย” เป็นต้น ซึ่งนับเป็นบทร้อยกรองที่งดงาม แฝงจินตนาการและสะท้อนความผูกพันของชีวิตกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ความคิดความฝันประยอม ซองทอง หลั่งไหลมาต่อเนื่องยาวนาน 

 

ผลงานของอจารย์ประยอม ซองทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

 

ปัจจุบันมีบทร้องกรองที่เป็นวัฒนธรรมไว้มากมายทั้งจากการรวมเล่มเฉพาะของตนและรวมกับนักกลอนร่วมสมัยทุกทุกชุดล้วนมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ บ่งบอกถึงความเป็นอัจฉริยะทางด้านการประพันธ์ ทั้งยังเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ สนับสนุนและส่งเสริมให้กำลังใจผู้สนใจการเขียนคำประพันธ์รุ่นหลังอย่างสม่ำเสมอ

 

อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้คิดริเริ่มและประสานงานในการจัดตั้งกลุ่มนักกลอนร่วมสมัยเป็น "ชมรมนักกลอน” ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจและแนวทางการจัดตั้งชมรมวรรณศิลป์ทั้งในสถาบันและนอกสถาบันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และสืบทอดการแสดงสักวาอย่างแน่วแน่มั่นคงมากว่า 4ทศวรรษ และนายประยอม ซองทอง ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช  2548
 

อนึ่งทายาทของอาจารย์ประยอม ซองทอง ได้แจ้งกำหนดการบำเพ็ญกุศลศพ ดังนี้ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม 2564 เวลา 17.30  น. และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ 12-18 ธันวาคม 2564 เวลา 18.00 น. . ณ ศาลา 6  (ชวลิตธำรง) วัดธาตุทอง ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ซึ่งทายาทจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล 100  วัน และสวธ.จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป 

 


นายชาย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า นอกจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ เผยแพร่และถ่ายทอดผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน แล้ว ในยามที่ศิลปินฯ เสียชีวิต ยังให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ 

 

นอกจากดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพ ยังมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท และขอพระราชทานเพลิงศพให้ ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ 

 

 

ที่มาข้อมูล - ภาพ :กรมส่งเสริมวัฒนธรรม