วัคซีนโควิดจุฬาใกล้สำเร็จ ครม.ดันงบ 3.62 พันล้านหนุน

05 พ.ย. 2564 | 08:33 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ย. 2564 | 15:43 น.

หมอเฉลิมชัยเผยวัคซีนโควิดจุฬา 2 ชนิดใกล้สำเร็จ ครม.อนุมัติงบ 3.62 พันล้านสนับสนุน ชี้ของคณะแพทย์จุฬาเทคโนโลยี mRNA เข้าสู่เฟสสุดท้าย ขณะที่บริษัทใบยาไฟโตฟาร์มเตรียมรายงานผลสภาพัฒน์

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ข่าวดีมาก !! ครม.อนุมัติงบประมาณ 3625 ล้านบาท ผลักดันเต็มที่ให้วัคซีนของจุฬาฯสองชนิด สามารถผลิตออกมาใช้ได้จริงโดยเร็ว

จากสถานการณ์โควิดระบาดทั่วโลก และวัคซีนเป็นคำตอบสำคัญ ที่จะช่วยควบคุมการระบาด และลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดลงได้
ในช่วงที่ผ่านมา วัคซีนชั้นนำที่ใช้ในประเทศไทย ล้วนแต่เป็นการนำเข้าทั้งสิ้น

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

แต่คู่ขนานไปในเวลาเดียวกัน เราก็จะทราบว่า มีโครงการวิจัยวัคซีนของเราอยู่อย่างน้อย 4 ชนิด ที่มีความหวัง เริ่มทดลองในมนุษย์แล้ว ได้แก่
1.วัคซีนของคณะแพทยศาสตร์จุฬา ChulaCov-19 ใช้เทคโนโลยี mRNA เหมือนวัคซีนของ Pfizer และ Moderna
2.วัคซีนของบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้เทคโนโลยีโปรตีนเป็นฐาน แบบเดียวกับ Novavax
3.วัคซีนขององค์การเภสัชกรรมร่วมกับสถาบันวัคซีน เป็นเทคโนโลยีเชื้อตาย แบบเดียวกับ Sinovac และ Sinopharm
4.วัคซีนของบริษัทไบโอเนทเอเชีย เป็นเทคโนโลยี DNA
โดยวัคซีนที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในครั้งนี้ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติในสองกรณี ได้แก่
1.อนุมัติงบประมาณ 2316 ล้านบาทในโครงการวิจัยพัฒนา ChulaCov-19 mRNA ของคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ เพื่อที่จะเร่งทำการทดลองในมนุษย์เฟสสาม ซึ่งเป็นเฟสสุดท้าย ให้สามารถขึ้นทะเบียน อย.ได้ และเตรียมการผลิตให้เรียบร้อย
จะมีประโยชน์อย่างมาก โดยจะเป็นฐานในการที่จะผลิตวัคซีนโควิดรุ่นที่สองได้ ซึ่งจะรองรับไวรัสกลายพันธุ์ และยังเป็นฐานการผลิตสำหรับสำหรับไวรัสอื่นต่อไปด้วย
ทั้งนี้มอบให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้กำกับ ติดตามและประเมินผล

โครงการวิจัยพัฒนา ChulaCov-19 mRNA

2.เห็นชอบในหลักการ สำหรับวงเงิน 1309 ล้านบาท ที่จะให้บริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพของคณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เร่งรายงานผลทดลองเฟสสองเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์
โดยมีเป้าหมาย จะให้ทำการทดลองเฟสสาม จำนวนอาสาสมัคร 10,000 คน และมีเป้าหมายผลิตให้ได้ 60,000,000 โดสต่อปี

บริษัทใบยาไฟโตฟาร์มพัฒนาวัคซีนเทคโนโลยีโปรตีนเป็นฐาน
ทั้งนี้วัคซีน mRNA ของคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯได้รับการอนุมัติวงเงินแล้ว พร้อมดำเนินการได้ทันที ซึ่งเป็นเทคโนโลยี mRNA แบบเดียวกับ Pfizer และ Moderna ซึ่งจากรายงานการทดลองเฟสสามของทั้งสองบริษัทดังกล่าว ต้องใช้อาสาสมัครจำนวน 3-40,000 คน
โดยที่จะต้องทำการตรวจทุกอย่างในอาสาสมัคร ทั้งในเรื่องประสิทธิผลคือ ภูมิคุ้มกันประเภทต่างๆ รวมทั้งการทำงานของเซลล์ชนิดต่างๆในระบบภูมิคุ้มกันที่มีความสลับซับซ้อน และยังต้องตรวจอาสาสมัครทุกคน เป็นระยะ ในเรื่องผลข้างเคียงต่ออวัยวะทุกอวัยวะ  ไม่ว่าจะเป็นเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ ตลอดจนต้องทำการเอ็กซเรย์ และตรวจเซลล์พิเศษต่างๆซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
โดยที่ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะอยู่ประมาณคนละ 80,000 ถึง 200,000 บาท และขั้นต่ำที่จะประหยัดที่สุด เท่าที่จะได้รับรองมาตรฐานสากล คือ ต้องทดลองในอาสาสมัครอย่างน้อย 20,000 คน
ดังนั้นวงเงินที่อนุมัติมาให้ 2316 ล้านบาท จึงมีความเหมาะสมที่จะได้มาตรฐานที่สากลจะยอมรับ
โดยถือว่าเป็นการใช้งบประมาณประหยัดที่สุด เท่าที่จำเป็น
นับเป็นข่าวดีมาก ที่คนไทยจะได้มีความหวังของการที่จะมีวัคซีนอย่างน้อยสองชนิด ที่จะผ่านการทดลองเฟสสาม และสามารถขึ้นทะเบียน อย.เพื่อใช้กับคนไทยได้ในระยะเวลาอันใกล้ และยังเป็นการสร้างความแข็งแรงและความพร้อมของระบบวัคซีนของไทย ที่อาจจะมีไวรัสหรือแบคทีเรียชนิดอื่นเกิดขึ้นในอนาคต
เราจะสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตวัคซีน โดยใช้เวลาอันสั้น เพื่อรองรับการระบาดที่ไม่มีใครคาดหมายได้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างไร และเมื่อไหร่ในอนาคต
ขอแสดงความชื่นชม ให้กำลังใจ  และขอบคุณกับทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้มีการอนุมัติงบประมาณในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขอให้กำลังใจกับทีมวิจัยทุกทีมทุกคน
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-3 พ.ย. 64 มีการฉีดวัคซีนสะสมจำนวน 77,831,474 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 43,112,788 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 32,223,467 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 2,495,219 ราย