“กัญชา”ต้องไปต่อ นักวิจัยฟันธง“ผู้ป่วย”ได้ประโยชน์

28 ก.ย. 2564 | 14:11 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2564 | 21:18 น.

“กัญชา”ต้องไปต่อนักวิจัยฟันธง “ผู้ป่วย”ได้ประโยชน์ สธ.เร่งมือขยายผลทางเศรษฐกิจ ชี้แนวโน้มผู้ป้วยที่ใช้ยากัญชารักษามากยิ่งขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงที่ประชาชนไปซื้อยากัญชาใต้ดินมาใช้เอง 

ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ครั้งที่ 12  ว่า ที่ประชุมได้สรุปผลการดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์ของกรมและเขตสุขภาพที่เกี่ยวข้องตลอดปีงบประมาณ 2564 

 

รวมถึงการเติมช่องว่างที่สำคัญในส่วนต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ให้กัญชาสามารถถูกเติมเต็มให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้อย่างสมบูรณ์ คือ การพัฒนากระบวนการสกัดและวิเคราะห์เทอร์ปีน โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การเสนอให้กัญชาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย และการนำกัญชาบูรณาการเข้ากับการท่องเที่ยวในเขตสุขภาพที่ 8 ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ประกอบการ

                         “กัญชา”ต้องไปต่อ นักวิจัยฟันธง“ผู้ป่วย”ได้ประโยชน์

ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวว่า การพัฒนาฐานข้อมูลกัญชา-กัญชงที่สามารถค้นหาข้อมูลได้ตั้งแต่นำเข้า ปลูก ผลิต  ใช้ และขาย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการทำธุรกิจกัญชา-กัญชง ให้ผู้ประกอบการมาตรวจสอบข้อมูล ดูโอกาสทางการตลาด และยังรู้ว่าถ้าจะทำผลิตภัณฑ์จะไปหากัญชาได้จากไหน ถ้าจะปลูก ปลูกสายพันธุ์ไหนดี ก็อยากจะเชิญชวนผู้ประกอบการลองมาใช้ฐานข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และฟีดแบคกลับมาให้ว่า ต้องแก้ไขอย่างไร เพื่อให้ใช้งานได้ประโยชน์สูงสุด

                          “กัญชา”ต้องไปต่อ นักวิจัยฟันธง“ผู้ป่วย”ได้ประโยชน์

ด้าน ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิจัย ผู้ได้รับทุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า จากงานวิจัย  เราเห็นความต้องการใช้ประโยชน์จากการกัญชาในการรักษาโรคของผู้ป่วยหลายกลุ่มโรค ที่ต้องการใช้กัญชาในการรักษา และส่วนใหญ่ก็ไปใช้ยากัญชาใต้ดิน และนโยบายกัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย ทำให้เห็นแนวโน้มของผู้ป้วยที่มีการใช้ยากัญชาที่ได้รับการรับรอง และเข้าสู่ระบบการรักษามากยิ่งขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงที่ประชาชนไปซื้อยากัญชาใต้ดิน มาใช้เอง 

 

“การเดินหน้าพัฒนานโยบาย ทั้งในด้านการส่งเสริมการปลูก และสกัดกัญชาได้ ก็เป็นการทดแทนยาที่เราต้องนำเข้าได้ส่วนหนึ่งแล้ว แต่เราต้องทำระบบการกำกับดูแลอย่างเข้มแข็ง มีการประเมินผลทั้งทางด้านบวกและผลกระทบต่อสังคม  และพยายามปิดจุดอ่อนด้านลบ ซึ่งก็จะช่วยเติมเต็มด้านบวก คือ ประโยชน์ที่เกิดกับคนไข้ กับสังคมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในส่วนของงานวิจัย จะเร่งทำการวิจัยคลินิกกับผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นปัญหาสุขภาพของประเทศ และจะมีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยได้วางกรอบให้ครอบคลุมในทุกมิติ”

                     “กัญชา”ต้องไปต่อ นักวิจัยฟันธง“ผู้ป่วย”ได้ประโยชน์