"โควิด-19" ฉุด มอก.เอสสะดุดยาวสวนทางมาตรฐานกัญชา-กัญชงผ่านฉลุย

16 ก.ย. 2564 | 10:55 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2564 | 17:54 น.

สมอ.เผย มอก.เอส ไม่คืบหน้าแม้ได้งบประมาณสนับสนุน 3 ล้านบาท หลังเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ด้านมาตรฐานกัญชา/กัญชงผ่านความเห็นชอบแล้ว 6 เรื่อง รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) โดยออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ภายใต้ชื่อ “มอก.เอส” เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพให้กับสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายโดยผู้ประกอบการ SMEs
อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวแม้ว่าจะมีการประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561 แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการให้ความสนใจขอรับรองมาตรฐาน มอก.เอส ไม่มากนัก จากติดปัญหาเรื่องของค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างสูง และความคาบเกี่ยวกันระหว่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทำให้นโยบายยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ.เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดแม้ว่า สมอ. จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 3 ล้านบาทจากงบประมาณปกติประจำปี 2564 ซึ่ง สมอ. บูรณาการร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อนำมาใช้ในโครงการดังกล่าว ในการสนับสนุนSMEs ที่ต้องการขอ มอก.เอส แต่ติดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สูง (บางรายการสูงถึง 3-4 หมื่นบาท) แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการได้เลย 
นอกจากนี้ เอสเอ็มอีต่างก็ได้รับผลกระทบจนต้องหยุดกิจการไปเป็นจำนวนมาก ทำให้งบประมาณดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้และต้องนำส่งคืนไป โดยที่ปีงบประมาณถัดไป สมอ. ก็จะไม่ได้รับสนับสนุนงบฯต่อ เพราะงบฯจะต้องถูกนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหา และบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 เป็นหลัก

“ต้องเรียกว่าได้งบประมาณเข้ามาในช่วงจังหวะที่ไม่ดีเท่านัก เพราะเป็นช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก ทำให้โครงการ มอก. เอสไม่เกิดผลอย่างที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ เอสเอ็มอีก็ไม่ต้องการเสี่ยง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็ถูกกระทบจนต้องหยุดกิจการ” 
สำหรับผู้ได้รับการรับรอง มอก. เอสในปัจจุบันมีจำนวน 60 ราย ขณะที่ มผช. มีจำนวน 18,292 ราย

มอก.เอสสะดุดยาว
ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรฐานเกี่ยวกับกัญชา/กัญชงนั้น ได้แบ่งตามส่วนของกัญชงที่นำไปใช้งานหรือกระบวนการผลิต ทำให้แบ่งการจัดมาตรฐานได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นการนำมาจากส่วนช่อดอก เมล็ด ราก ใบ เป็นกลุ่มที่ให้น้ำมันและสารสกัด CBD กำหนดขึ้นโดยกรรมการวิชาการรายสาขา คณะที่ 74 ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และอนุกรรมการวิชาการรายสาขา คณะที่ 74/3 สารสกัด CBD จากกัญชง ได้แก่ 1.มาตรฐานน้ำมันเมล็ดกัญชง (มอก.3171-2564), 2.มาตรฐานสารสกัดจากกัญชงที่มีสารแคนนาบิไดออลรวมไม่น้อยกว่า 30% โดยมวล (มอก.3172-2564) และ 3. มาตรฐานสารสกัดจากกัญชงที่มีสารแคนนาบิไดออลรวมไม่น้อยกว่า 80% โดยมวล (มอก.3173-2564)

กลุ่มที่ 2 เป็นนำมาจากส่วนแกน เปลือก ลำตัน เส้นใย และนำไปทำ composite กำหนดขึ้นโดยกรรมการวิชาการรายสาขา คณะที่ 70 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม และอนุกรรมการวิชาการรายสาขา คณะที่ 70/12 วัสดุเส้นใยกัญชงและคอมโพสิทจากกัญชง ได้แก่ 1.มาตรฐานเปลือกกัญชง (มอก.3184-2564) ,2.มาตรฐานแกนกัญชง (มอก.3185-2564) และ3.มาตรฐานเส้นใยกัญชง (มอก.3225-2564)
“มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทั้ง 6 เรื่อง ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแล้ว และอยู่ในระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป”