แบงก์-เอกชน ชี้ช่อง SME เข้าถึงแหล่งทุน

24 ก.ย. 2564 | 15:49 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2564 | 23:08 น.
1.4 k

สถาบันการเงิน-ภาคเอกชน ชี้ช่องผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน คว้าอัตราดอกเบี้ยเจ้าสัว พร้อมบริหารจัดการ เสริมสภาพคล่อง หาตลาดใหม่ พยุงธุรกิจช่วงโควิด เดินหน้าต่อ ผ่านเวทีสัมมนา Virtual Online “จับคู่ กู้เงิน คลายทุกข์ SMEs”

ผู้ประกอบการ SME ไทยที่มีกว่า 3.1 ล้านราย พบว่ามีเพียง 1% หรือกว่า 3 หมื่นราย ที่เติบโตเป็นผู้ส่งออก ขณะที่อีก 99% ยังคงพึ่งพิงตลาดที่ไม่มีอนาคต การสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SME ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพยุงธุรกิจในช่วงโควิด

 

รวมถึงนำไปต่อยอดในการเดินหน้าธุรกิจต่อไปในอนาคตเป็นสิ่งจำเป็น “ฐานเศรษฐกิจ” จึงจัดสัมมนา Virtual Online ในหัวข้อ “จับคู่ กู้เงิน คลายทุกข์ SMEs” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปัญหาและอุปสรรค จากสถาบันการเงิน ตลอดจนผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อเป็นทางลัดให้นำไปปรับใช้ได้จริงในธุรกิจ

 

แนะ SME เร่งทำ 4 เช็ก

 

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า วันนี้ผู้ประกอบการ SME ให้เร่งทำ 4 เช็ก คือ

 

1.เช็กเงินสด หรือความแข็งแกร่งของธุรกิจ และจำเป็นต้องมีแผนบี หรือแหล่งเงินที่ 2 และแหล่งเงินที่ 3

รักษ์ วรกิจโภคาทร

2.เช็กสมองหรือ แผนธุรกิจและการบริหารจัดการความเสี่ยง

 

3.เช็กออกซิเจน หรือ สถานะของคู่ค้าและสถานการณ์ของตลาด

 

4. เช็กกระดูกสันหลัง หรือ เทคโนโลยีการผลิตและการดำเนินธุรกิจว่ายังทันสมัยหรือไม่

 

ทั้งนี้ EXIM BANK ตั้งเป้าผลักดัน SME ไทยเติบโตเป็นผู้ส่งออกเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 แสนราย โดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศ หาตลาดที่เติบโตใหม่ให้กับสินค้าหรือบริการของไทย เช่น เอเชียใต้ แอฟริกาใต้ และ อเมริกาใต้ และทำการจับคู่ธุรกิจ

 

รวมทั้งการดึงให้ SME เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจขนาดใหญ่ มีการเติมวงเงิน และเติมความรู้ เช่น การป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน การทำการันตีการรับประกันการชำระเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องผู้เล่นในปี 2565 จำเป็นต้องรู้

 

“การจับคู่กู้เงิน เป็นแนวคิดใหม่เหมือนกับเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยน ดังนั้นในฐานะหน่วยงานรัฐ และ แบงก์รัฐ การดูแลผู้ประกอบการ SME จึงต้องทำมากกว่าการเติมเงินเสริมสภาพคล่องคือ การหาคู่ให้หรือการจับคู่ธุรกิจ ล่าสุดมี SME ยื่นคำขอเข้ามาเกือบ 500 ราย เป็นวงเงินกว่า 3,700 ล้านบาท

 

ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 252 ราย คิดเป็นวงเงินกว่า 1,600 ล้านบาท จากกรอบวงเงินรวม 2,500 บาท ซึ่งหากเต็มวงเงินโครงการก็พร้อมจะเติมเงินเข้าไปเพิ่มอีก 2,500 ล้านบาท” นายรักษ์ กล่าวและว่า

 

ในสัดส่วนผู้ที่ได้เงินสินเชื่อไป 64% เป็นคนตัวเล็ก หรือ ธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี และยังได้ดอกเบี้ยในอัตราบวกลบ 4% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเจ้าสัว ดังนั้นถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และถือเป็นโอกาสทองของคนตัวเล็ก ที่จะได้สินเชื่อในการปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเองให้ดีขึ้น”

แบงก์-เอกชน ชี้ช่อง SME เข้าถึงแหล่งทุน

ปั้นเอสเอ็มอีขึ้นชั้นส่งออก

 

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการ SME มีการใช้งานระบบค้าขายบนออนไลน์เพียง 40-50% เท่านั้น ดังนั้น บทบาทของ SME D Bankจึงไม่ใช่เพียงแค่เข้าไปสนับสนุนทางด้านเงินทุนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเข้าไปมีส่วนช่วยผลักดันให้เอสเอ็มอีเข้าสู่แพลตฟอร์มการค้าขายออนไลน์

 

เพราะมองว่าโอกาสของเอสเอ็มอีไม่ได้มีแค่ตลาดในประเทศเท่านั้น จากโลกที่เปิดกว้างเอสเอ็มอีต้องมองไปยังตลาดต่างประเทศ มองหาโอกาสจากประเทศอื่น ตามความต้องการของผู้บริโภคแต่ละประเทศ SME D Bank จึงจัดทำแพลตฟอร์มรวบรวมองค์ความรู้ อาทิ การเขียนแผนธุรกิจ การตลาดแบบใหม่ การบริหารจัดการด้านการเงิน ฯลฯ รวมกว่า 150 เรื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเอสเอ็มอี

 

“หากเป็นเอสเอ็มอีรายใหญ่ที่แข็งแรงสามารถที่จะเป็นผู้ส่งออกได้มีจะสามารถดึงซัพพลายเชนที่เป็นเอสเอ็มอีรายเล็ก ช่วยทำให้เกิดการจ้างงาน มีการสั่งซื้อของเข้ามาในวงจรของธุรกิจ ก็จะช่วยพยุงเอสเอ็มอีรายเล็กให้แข็งแรงขึ้น และช่วยผลักดันจีดีพีของประเทศได้”

 

อุปสรรคใหญ่ ขาดเงินทุน

 

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า วันนี้มี SME ที่เป็นผู้ส่งออกได้รับอนุมัติในโครงการจับคู่กู้เงินกับสถาบันการเงินแล้วทั้งสิ้น 252 ราย เป็นเงิน 1,600 ล้านบาท ถือว่าจำนวนยังน้อยเมื่อเทียบกับจำนวน SME ที่เป็นผู้ส่งออกมากกว่า 3 หมื่นราย ที่ยังต้องการเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องอีกมาก

 

“ปีนี้โดยเฉพาะในช่วงนี้เศรษฐกิจในต่างประเทศฟื้นเร็ว ขณะที่คู่แข่งที่เป็นผู้ส่งออกส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้น ดังนั้นไทยต้องเร่งการส่งออก ซึ่งเอสเอ็มอีถือมีความสำคัญ เพราะเป็นองค์กรที่เติมเต็มให้กับอุตสาห กรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ อยู่กันในลักษณะห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเอสเอ็มอีถือเป็นฟันเฟืองเล็ก จิ๋วแต่แจ๋ว ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”

 

ทั้งนี้ไทยต้องเร่งการส่งออก เพราะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน ยุโรป ฟื้นตัว ประกอบค่าเงินบาท ณ วันนี้ 33 บาทกว่าต่อดอลลาร์สหรัฐฯหาที่ไหนไม่ได้ แต่เวลานี้เอสเอ็มอียังพบกับอุปสรรค แม้จะมีจิตใจพร้อม โรงงานพร้อม การตลาดพร้อม แต่ขาดอย่างเดียวคือเงินทุน หากรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ เอ็กซิมแบงก์ และบสย.เข้ามาสนับสนุนทางการเงินจะช่วยเพิ่มศักยภาพและโอกาสส่งออกไทยอีกมาก

แบงก์-เอกชน ชี้ช่อง SME เข้าถึงแหล่งทุน

แนะชูจุดเด่น ปั้นธุรกิจใหม่

 

หนึ่งในกลุ่ม SME ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนคงหนีไม่พ้น “ร้านอาหาร/ภัตตาคาร” โดยนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า โครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับร้านอาหารก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนประกอบธุรกิจร้านอาหารอบอุ่น แม้จะประสบความทุกข์ยาก ก็ต้องยอมรับว่า ปัญหาสะสมมาเรื่อย ร้านค้าทยอยปิดกิจการ แต่ในขณะเดียวกันก็มีรายใหม่ที่ตกงานจากอาชีพอื่น ก็หันประกอบธุรกิจร้านอาหารเพิ่มขึ้น

 

ที่ผ่านมาร้านอาหารเอสเอ็มอีถูกแบงก์พาณิชย์ปฏิเสธมาโดยตลอด สาเหตุส่วนใหญ่ร้านอาหารเดิมจะไม่ใช้เงินกู้ ใช้เงินสดหมุนเวียน แต่ในช่วง 2 ปี ประสบปัญหาในยุคโควิด ล่าสุด สสว. จับมือ SME D Bank ปล่อยกู้ “โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย” วงเงิน 1,200 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ต่อปี ไม่ดูความสามารถในการชำระเงิน ช่วยผู้ประกอบการได้มาก

 

อย่างไรก็ดี ยังมีเงื่อนไขติดเครดิตบูโร สลัดไม่หลุด คนที่อยากได้เงิน ก็เข้าไม่ถึง ซึ่งไม่รู้ว่าโควิดจะอยู่ยาวนานแค่ไหน การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ดำเนินธุรกิจ ไม่มั่นใจการอยู่ในห้างสรรพสินค้าอีกต่อไปดังนั้นผู้ประกอบการต้องกลับมาหาจุดดี จุดเด่นของตัวเอง อาจจะเกิดธุรกิจใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ เกิดขึ้นได้ สบช่องเห็นเป็นธุรกิจให้ผลกำไรได้ ซึ่งบางคนถอยออกไป แต่บางคนยังทำด้วยความรัก

 

รักษาสภาพคล่อง

 

ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นอย่าง “โชนัน” สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากโควิด โดยนายกุลวัชรภูริชยวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิ ออริจินัล ฟาร์ม จำกัด ผู้บริหารร้าน “โชนัน” (ChouNan) กล่าวว่า หลังคลายล็อกให้ร้านอาหารกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง ทำให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น

แบงก์-เอกชน ชี้ช่อง SME เข้าถึงแหล่งทุน

จากกระแสเงินสดที่เข้ามาทำให้พอหล่อเลี้ยงธุรกิจและไปต่อได้ แต่หากเกิดการระบาดระลอกที่ 5 หรือมีการล็อกดาวน์ร้านอาหารอีกครั้งคาดว่า SME จะได้รับผลกระทบมากกว่าเดิม เนื่องจากผู้ประกอบการเองล้มหัวคว่ำ แบกต้นทุนต่างๆมาตั้งแต่ต้นปี

 

“เรื่องกระแสเงินสดในธุรกิจมีผลมากในช่วงที่ต้องล็อกดาวน์ โดยเฉพาะร้านอาหารที่อยู่ในศูนย์การค้า รายได้หายไปเกือบ 100% กระทบธุรกิจโดยตรง ก็ต้องหาวิธีอื่น เช่นการขอซัพพอร์ตทางด้านการเงินโดยธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ซึ่งมีทั้งอนุมัติและไม่อนุมัติด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่าง

 

แม้ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านธนาคารพาณิชย์ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ทุกรายที่จะได้สินเชื่อตรงนี้ เพราะเงื่อนไขในการปล่อยวงเงินต่างๆมีการจำกัด เช่นจะต้องกู้จากธนาคารพาณิชย์ที่เคยมีสินเชื่ออยู่จึงจะสามารถกู้ได้ 30% ของวงเงินเดิม ทำให้การเข้าถึงซอฟต์โลนติดขัด ในส่วนของ E-Bank เองด้วยวงเงินที่ไม่มาก อาจเพียงพอสำหรับรายเล็ก แต่ไม่เพียงพอสำหรับธุรกิจขนาดกลางขึ้นไปในการรักษาสภาพคล่อง”