โชนันผุดโมเดล ‘ตู้กับข้าว’ เจาะตลาด WFH

11 ก.ย. 2564 | 09:24 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2564 | 16:30 น.
738

โชนันเปิดเกมรุกสู้ศึกร้านอาหารส่งโมเดลใหม่ Vending Machine “ตู้กับข้าว” CLOUD KITCHEN ยึดทำเลที่พักอาศัย-สำนักงาน เจาะกลุ่มคน Work frome Home ตั้งเป้า 30 ตู้ภายในสิ้นปี

นายกุลวัชร ภูริชยวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิ ออริจินัล ฟาร์ม จำกัด ผู้บริหารร้าน “โชนัน” (ChouNan) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 บริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยเฉพาะแบรนด์หลักอย่าง “โชนัน” ซึ่งอยู่ในศูนย์การค้าเกือบ 100%

 

เมื่อมีมาตรการล็อกดาวน์ร้านอาหารหรือล็อกดาวน์ศูนย์การค้าทำให้ยอดขายเป็น “ศูนย์” และรายได้ลดลงจากสถานการณ์ปกติถึง 50% ขาดทุนต่อเนื่องตลอด 2 ปี ที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับตัวมาตลอดทั้งปีไม่ว่าจะเป็น การทำ ChouNan Franchise Ecosystem, การเน้นการทำตลาดออนไลน์และเดลิเวอรี่, การปรับเพิ่มเพิ่มแบรนด์สินค้าใหม่ๆ

 

เพื่อกระจายประเภทธุรกิจและลดความเสี่ยงเรื่องสถานที่, การทำ ChouNan Sushi Corner เพื่อเน้นสำหรับการขายแบบซื้อกลับบ้านในช่วงที่ไม่สามารถนั่งทานในร้านได้, การทำข้าวกล่องบริจาค หรือ Bubble and Sealed ผ่านแคมเปญ “ลูกค้าสั่งเท่าไหร่ โชนันช่วยเท่ากัน” และปรับกลยุทธ์ขายวัตถุดิบสำหรับเมนู D.I.Y ต่างๆ

โชนันผุดโมเดล ‘ตู้กับข้าว’ เจาะตลาด WFH

ในขณะที่ โชนันเองไม่สามารถทำยอดขายในช่องทางดีลิเวอรีได้มาก บริษัทจึงต้องมองหาช่องทางจำหน่ายของตัวเองที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างมากขึ้นจนเกิดเป็นไอเดียขายอาหารในรูปแบบ Vending Machine ภายใต้ชื่อ “ตู้กับข้าว CLOUD KITCHEN

 

“ตู้กับข้าว CLOUD KITCHEN” เกิดความร่วมมือกับ CPF ซึ่งโชนันซื้อวัตถุดิบเป็นหลักอยู่แล้ว ซึ่ง CPF ก็ได้ดึง partner ที่อยู่ในเครือเช่น CP Retailink เข้ามาช่วยพัฒนาตู้ร่วมกับทีมงานของโชนัน ในระยะเวลาเร่งด่วน เพราะโปรเจ็กต์นี้เกิดได้ไม่ถึงเดือน และตั้งเป้าขยาย 30 ตู้ ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งหากธุรกิจขยายได้มากเท่าไรทาง CPF เองก็ได้ขายวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้นและเราก็ได้ใช้บริการตู้จากในเครือ CP Retailink เพิ่มมากขึ้น”

 

บริษัทเชื่อว่า Vending Machine “ตู้กับข้าว CLOUD KITCHEN” จะเป็นช่องทางที่สามารถทำให้เมนูอาหารต่างๆของ ChouNan Group ไม่ว่าจะเป็นอาหารญี่ปุ่นจากแบรนด์ “โชนัน ”, เมนูข้าวปั้นและซูชิต่างๆ จากแบรนด์ “โซลชิ”, เมนูก๋วยเตี๋ยวเรือพรีเมียมจากแบรนด์ “ก๋วยเตี๋ยวเรือเสือหน้าหยก ”, เมนูต้นตำรับสำรับไทยโบราณหาทานยาก จากแบรนด์ “บรรจง (Bunnjong)”

 

รวมถึงเมนูอาหารอีสานจากแบรนด์ “สามเกลอ” ไปถึงมือผู้บริโภคในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคต้องการโดยเฉพาะในช่วงหลัง 20.00น. ซึ่งร้านอาหารทั่วไปปิดร้านไปแล้วจึงเป็นโอกาสขายให้กับคนที่อยู่ช่วงดึกๆอีกด้วย

โชนันผุดโมเดล ‘ตู้กับข้าว’ เจาะตลาด WFH

 

ในเฟสแรกบริษัทมีแผนขยาย “ตู้กับข้าว CLOUD KITCHEN” ในทำเลที่พักอาศัยโดยเฉพาะคอนโดมิเนียมขนาดกลางขึ้นไป ในส่วนของเมนูต่างๆ บริษัทได้คัดเมนูขายดีจากแบรนด์ต่างๆในเครือ กว่า 60 เมนู มาไว้ใน “ตู้กับข้าว” โดยในระยะแรกจะปรับเปลี่ยนเมนูทุกๆ 2 สัปดาห์ และในแต่ละโลเคชั่นจะมีการคัดเลือกเมนูในแต่ละตู้ไม่เหมือนกัน

 

ในส่วนเฟส 2 จะขยายไปยังอาคารสำนักงาน หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายและบริษัทต่างๆ เริ่มให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ จากนั้นจะค่อยๆ ขยายผลไปยังโลเคชั่นอื่นๆ ตามสถานการณ์ที่เหมาะสมในอนาคต เช่น หน่วยงานราชการ สถานีขนส่ง โรงเรียนมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลต่างๆ เป็นต้น

 

โดยบางโลเคชั่นจะเพิ่มเติมในส่วนของไมโครเวฟผ่านการสั่งการด้วย QR Scan สำหรับอุ่นร้อนเพื่อให้ลูกค้าสามารถรับประทานอาหารได้ทันที และในเฟส 3 จะขยายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด พร้อมๆกับการขยายหน้าร้าน “โชนัน” หรือแบรนด์อื่นๆในอนาคต

 

นอกจากนี้ บริษัท ยังได้ร่วมมือกับ exclusive partner อย่างTrue Wallet ที่ทำให้ลูกค้าสามารถใช้จ่ายผ่าน “ตู้กับข้าว” และเริ่มสะสมแต้มแลกส่วนลดต่างๆผ่านช่องทางของ True Wallet

 

“เชื่อว่า Vending Machine น่าจะตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่มที่ร้านเข้าไม่ถึงและบางทีดีลิเวอรีเองก็ต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆเพิ่มมากขึ้นอีกด้วยในมุมของร้านค้าส่วนในมุมของลูกค้าก็ต้องเสียค่าส่งเพิ่มหรือราคาอาหารที่ถูกเพิ่มจากหน้าร้าน เราค่อนข้างมั่นใจกับธุรกิจนี้เพราะไปเติมเต็มชีวิตของคนเมือง เมนูที่เราคัดสรรมา 1 เป็นเมนูที่หาทานยาก 2 ใครกินก็ติดใจ3 ในราคาที่เข้าถึงได้

 

แม้ว่าในการพัฒนาตู้จะใช้งบพอสมควร ทั้งเรื่องค่าตู้ ค่าเช่าที่ แต่เมื่อเทียบกับการเปิดหน้าร้านถือว่าใช้งบน้อยกว่าค่อนข้างเยอะ และในอนาคตอันใกล้เรามีแผนขายแฟรนไชส์ ส่วนที่ยากก็คือเรื่องของการบริหารของสดซึ่งเราต้องเปลี่ยนใหม่ทุกวัน

 

และอาจมีเรื่องของความเสี่ยงที่เยอะมากกว่าหน้าร้านที่ทำตามออร์เดอร์รวมทั้งมีช่องทางฟังความคิดเห็นของลูกค้าที่หน้าตู้เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาสินค้า และทันทีที่เราวางตู้แรกออกไปโมเดล แฟรนไชส์จะตามมาในไม่ช้า”

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,712 วันที่ 9 - 11 กันยายน พ.ศ. 2564