นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 76.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 78.9 ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และเป็นการปรับตัวลดลงในทุกภูมิภาคและทุกขนาดอุตสาหกรรม โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ คือ การที่ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 (Covid-19) ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็น 29 จังหวัด และบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ตลอดเดือนสิงหาคม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศลดลง ขณะที่การแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่คลี่คลายส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตลดลงและการส่งมอบสินค้าล่าช้าโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยังมีความกังวลเกี่ยวการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานในโรงงานที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีความไม่แน่นอนสูง กำลังซื้อในประเทศที่ยังอ่อนแอ และปัญหาขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ด้านการส่งออกอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศชะลอลงจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชีย ขณะที่ปัญหาอัตราค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูงส่งผลให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลกระทบต่อการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ฯ
ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,395 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ประมาณ 75.8% ,เศรษฐกิจในประเทศ 74% ,สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 54% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 42.2%
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 58.8% ,สภาวะเศรษฐกิจโลก 51.3% และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 38.6%
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 90.9 จากระดับ 89.3 ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยผู้ประกอบการมองว่าหากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนครอบคุลมทุกกลุ่ม จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ และจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่าภาครัฐควรเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงเร่งขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง
ส่วนข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย
1.ขอให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง Factory Quarantine และ Factory Accommodation Isolation ภายในโรงงาน รวมทั้งช่วยจัดหาและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อสุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการ ทุกๆ 14 วัน ตามมาตรการ Bubble and Seal
2.ขอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 รวมทั้งจัดให้มี Mobile Units ฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ณ สถานประกอบการ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19ในสถานประกอบการ เพื่อรักษาศักยภาพในการผลิตและภาคส่งออกของประเทศ
3.ขยายมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ให้กับสถาน ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐ รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs
4.ขอให้ภาครัฐเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าส่งออกของไทย