คพ.ยื่นดีเอสไอเอาผิดโรงงานลักลอบทิ้งของเสียอันตราย

24 ก.ย. 2564 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2564 | 20:44 น.

คพ. เข้ายื่นหนังสือดีเอสไอ ตรวจสอบลักลอบทิ้งของเสียอันตรายในพื้นที่เอกชน จังหวัดลพบุรี ขอเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณากำหนดให้เป็นคดีพิเศษ กันสร้างผลกระทบราษฎรดละสิ่งแวดล้อม

จากกรณีที่ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ร่วมกับศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, จังหวัดลพบุรี, อำเภอพัฒนานิคม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 7 (สระบุรี), สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลพบุรี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี, สถานีตำรวจภูธรพัฒนานิคม, เทศบาลตำบลดีลัง และ ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 เข้าตรวจสอบการลักลอบทิ้งสารอันตรายในพื้นที่ตำบลพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ซึ่งมีนายสุเทพ ขวัญตา แสดงตัวเป็นเจ้าของที่ดิน นั้น 

 

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบ พบว่า 1. มีการลักลอบทิ้งถังบรรจุกากของเสียอันตราย และมีร่องรอยการเปิดฝาถังและบีบอัดเพื่อน้ำไปจำหน่าย โดยเป็นถังเหล็กขนาด 200 ลิตรประมาณ 360 ถัง และถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร ประมาณ 40 ถัง รวมทั้งสิ้นประมาณ 80,000 ลิตร สันนิษฐานได้ว่าของเสียดังกล่าวเป็นของเสียจากการประกอบกิจการโรงงาน ได้แก่ ตัวทำละลาย สี กาว เป็นต้น และ 2. จากการสุ่มเก็บตัวอย่างกากของเสีย จำนวน 7 ตัวอย่าง พบว่า มีค่า pH ระหว่าง 7 – 13 ค่าไอระเหยสารอินทรีย์ระเหยง่าย ระหว่าง0 - 838 ppm เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ของเสียเคมีวัตถุตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

การลักลอบทิ้งของเสียอันตรายดังกล่าวข้างต้น ได้สร้างความเสียหายและความเดือดร้อนกับประชาชน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง มีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก เข้าข่ายมีความผิดทางอาญาตามกฎหมายหลายฉบับ อาทิ กฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เป็นต้น 

 

ดังนั้น การที่จะหาตัวกลุ่มบุคคลที่กระทำความผิดมาลงโทษ จึงมีความซับช้อน จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ หรือประสบการณ์สูง ในการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน 

ในการนี้ คพ. จึงขอความร่วมมือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอให้พิจารณานำกรณีการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายดังกล่าว เสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณากำหนดให้เป็นคดีพิเศษ เพื่อให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเข้ามาดำเนินการตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อระงับยับยั้งไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทรัพย์สินของราษฎรและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในวงกว้างจนยากที่จะเยียวยา และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน