หมอธีระค้านเปิดประเทศ-ท่องเที่ยวหลายจังหวัดแนะไทยเตรียมการรับ Long COVID

17 ก.ย. 2564 | 08:23 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2564 | 15:25 น.

หมอธีระแนะชะลอนโยบายเปิดประเทศ เปิดการท่องเที่ยวหลายจังหวัด ห่วงฉายหนังม้วนเดิมเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่จะเกิดผลกระทบหนักกว่าเดิม พร้อมแนะไทยเตรียมการรองรับ Long COVID

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 17 กันยายน 2564
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 541,821 คน รวมแล้วตอนนี้ 227,771,443 คน ตายเพิ่มอีก 8,996 คน ยอดตายรวม 4,681,636 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อเมริกา อินเดีย บราซิล ตุรกี และสหราชอาณาจักร  
อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 134,120 คน รวม 42,616,662 คน ตายเพิ่ม 1,830 คน ยอดเสียชีวิตรวม 686,899 คน อัตราตาย 1.6% 
อินเดีย ติดเพิ่ม 34,649 คน รวม 33,380,522 คน ตายเพิ่ม 318 คน ยอดเสียชีวิตรวม 444,278 คน อัตราตาย 1.3% 
บราซิล ติดเพิ่ม 34,407 คน รวม 21,069,017 คน ตายเพิ่ม 637 คน ยอดเสียชีวิตรวม 589,277 คน อัตราตาย 2.8%
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่ม 26,911 คน ยอดรวม 7,339,009 คน ตายเพิ่ม 158 คน ยอดเสียชีวิตรวม 134,805 คน อัตราตาย 1.9% 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
รัสเซีย ติดเพิ่ม 19,594 คน รวม 7,214,520 คน ตายเพิ่ม 794 คน ยอดเสียชีวิตรวม 195,835 คน อัตราตาย 2.7% 
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิหร่าน อาร์เจนติน่า และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 88.71 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน 
แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง 

ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และะเวียดนาม ติดเพิ่มกันหลักหมื่น
ส่วนญี่ปุ่น เมียนมาร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ติดกันหลักพัน กัมพูชา สิงคโปร์ และลาว ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ

จำนวนติดเชื้อใหม่เมื่อวานนี้ยังคงสูงเป็นอันดับ 10 ของโลกอย่างต่อเนื่อง
ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตใหม่นั้นสูงเป็นอันดับ 13 
ผลลัพธ์จากนโยบายกล่องทราย และ 7+7
ดังที่เคยเล่าให้ฟังแล้วว่า หลังดำเนินการตามนโยบายไป เราพอจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าตามหลักวิชาการว่า การระบาดในพื้นที่ต้องทวีความรุนแรงขึ้น และมักเห็นชัดเจนราว 6-8 สัปดาห์
ภูเก็ตเริ่มไปเมื่อ 1 กรกฎาคม ส่วน 7+7 เริ่มไปเมื่อ 15 กรกฎาคม 
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่บอกล่วงหน้าว่าจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ในพื้นที่กล่องทรายได้ราวช่วงปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป 

กราฟแสดงการติดเชื้อของกล่องทราย
หลักการจัดการการระบาดที่หนักขึ้นดังที่เห็นนั้นคือ ลดการเคลื่อนไหวของคน ลดการพบปะติดต่อและใกล้ชิดกัน ตรวจให้มาก ปูพรมให้ครอบคลุม นำผู้ติดเชื้อไปดูแลรักษา แยกกักตัวคนสัมผัสความเสี่ยงออกมาจากชุมชนและครอบครัวเพื่อลดโอกาสแพร่ เพราะโอกาสที่จะแพร่ได้มากที่สุดคือช่วงที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการจนถึงมีอาการช่วงวันแรกๆ  การติดเชื้อโควิดนั้นสามารถแพร่ได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการราว 2-3 วัน ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้แพร่ไปได้เยอะโดยไม่รู้ตัวทั้งคนติดเชื้อและคนรับเชื้อ หากไม่ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเสมอ
การจะไปฝากความหวังไว้ที่วัคซีนเพื่อจัดการการระบาดนั้น อยากเตือนว่าไม่ควรทำเช่นนั้น เพราะชัดเจนว่า ฉีดแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ และนำเชื้อไปแพร่ต่อได้ ประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนเป็นเพียงการลดโอกาสป่วย ป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต แต่ก็ไม่ได้การันตี 100% 
ดังนั้นสิ่งที่เป็นห่วงคือ หากปล่อยให้มีการติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ แม้การตายจะไม่มาก หรือลดลงจากการฉีดวัคซีน แต่ผู้ที่ติดเชื้อก็จะเกิดผลกระทบตามมาระยะยาวได้ เช่น ภาวะอาการคงค้างจากโควิด ที่เรียกว่า Long COVID นั่นเอง

จากที่เคยเล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ว่า งานวิจัยหลากหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าโอกาสเกิดภาวะอาการคงค้าง Long COVID นี้มีสูงทีเดียว ฝั่งตะวันตกมีรายงานได้สูงถึงกว่า 40% ในขณะที่ของจีน พบว่ามีถึง 68% ที่มีอาการคงค้าง ณ 6 เดือน และมีถึง 49% ที่มีอาการคงค้าง ณ 12 เดือน 
อาการคงค้างมีได้มากมายหลายแบบ ตั้งแต่เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก มีปัญหาเรื่องความคิดความจำสมาธิ เครียด ซึมเศร้า ชัก ปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร หรือภาวะอื่นๆ ที่รุนแรง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
ดังนั้นการไม่ติดเชื้อย่อมจะดีที่สุด
ในต่างประเทศมีการเตรียมระบบสาธารณสุขเพื่อช่วยให้คำปรึกษา และดูแลรักษาภาวะ Long COVID อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาดำเนินการเช่นกัน เพราะจำนวนเคสติดเชื้อกว่าล้านคน ยังไงต้องมีผู้ที่มีภาวะ Long COVID อย่างแน่นอน และหากไม่ได้รับการดูแล ก็จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และผลิตภาพในการทำงานด้านต่างๆ 
ที่หยิบยกประเด็นนี้มา เพราะต้องการชี้ให้เห็นอีกด้านหนึ่งของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาถัดจากนี้ไป ที่มีความพยายามจะผลักดันนโยบายเปิดการท่องเที่ยวมากมายหลายจังหวัด ตลอดจนแผนในการเปิดประเทศ ในขณะที่สถานการณ์ระบาดยังรุนแรง กระจายไปทั่ว ก็ย่อมจะคาดการณ์ได้ว่าจะมีการติดเชื้อแพร่เชื้อในคนจำนวนมากขึ้นดังที่ปรากฏให้เห็นกันจากบทเรียนกล่องทรายและ 7+7

ชะลอเปิดประเทศห่วงโควิด-19 ระบาดหนัก
จึงขอให้พิจารณาให้ดี
มิฉะนั้นอาจเห็นเหมือนหนังม้วนเดิมเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่จะเกิดผลกระทบหนักกว่าเดิม เพราะสถานการณ์พื้นฐานทั้งเรื่องการระบาดตอนนี้ที่หนักกว่าปีก่อน และทรัพยากร ต้นทุนของประชาชนร่อยหรอลงไปมาก การตัดสินใจนโยบายจึงไม่สามารถพลาดได้อีกแล้ว 
ปีก่อนเป็น Blue คริสตมาสและปีใหม่ แต่หากหนักกว่าเดิมจะเป็น Black จากผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมพร้อมๆ กัน
ชะลอการเปิดการท่องเที่ยวหลากหลายจังหวัด และการเปิดประเทศไปก่อน
ขอให้ประชาชนอย่างพวกเราดำรงชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวเสมอ ใส่หน้ากาก สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า วางแผนเรื่องการเงินการใช้จ่าย และการลงทุนให้ดี และระวังเรื่องมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ 
เชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายระมัดระวัง เราจะประคับประคองกันไปอย่างปลอดภัย
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 17 กันยายน 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันศุกร์ที่ 17 กันยายน 2564 ยอดผู้ติดเชื้อโพิ่มขึ้นรวม 14,555 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,765 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 790 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,419,929 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 171 ราย หายป่วย 13,691 ราย กำลังรักษา 129,421 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,276,821 ราย