เปิด 3 วิธีเตรียมความพร้อมปอดลดโอกาสติดเชื้อโควิด-19 แบบฉบับหมอนิธิพัฒน์

16 ก.ย. 2564 | 09:43 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2564 | 16:42 น.

หมอนิธิพัฒน์เผย 3 วิธีเตรียมความพร้อมปอดลดโอกาสติดเชื้อโควิด-19 และรักษาปอดให้แข็งแรงเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนหากเกิดปอดอักเสบ

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า 
ในเมื่อประชาชนต้องถูกฝ่ายนโยบายเท ให้ต้องทนอยู่กันไปกับโควิดที่ระบาดต่อเนื่องยาวนาน มีความพยายามในของหลายภาคส่วนที่จะช่วยลดผลกระทบของการสูญเสีย หนึ่งในนั้นคือการดูแลรักษาและฟื้นฟูปอดเมื่อรอดพ้นจากโควิด
การเตรียมความพร้อมของปอด เป้าหมายคือ ลดโอกาสการเกิดโรคโควิด-19 และรักษาปอดไว้ให้แข็งแรงเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนหากเกิดปอดอักเสบโควิด โดย
1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ขณะออกกำลังกายจะทำให้ปริมาตรอากาศไหลเข้าออกปอดในหนึ่งนาทีเพิ่มขึ้นนับเป็นสิบเท่า ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจมีความแข็งแรง และถุงลมในส่วนต่างๆ ของปอดถูกนำมาใช้ในการแลกเปลี่ยนก๊าซเต็มที่ เมื่อเกิดปอดอักเสบเราจะทนทานต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซที่ผิดปกติได้นานขึ้น กล้ามเนื้อใช้หายใจที่แข็งแรงจะช่วยให้การไอขับเสมหะออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย
2. พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบหมวดหมู่ ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมระบบการป้องกันสิ่งแปลกปลอมโดยเฉพาะเชื้อโรคที่ผ่านลงไปในหลอดลมและถุงลมปอด
3. หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ ที่สำคัญคือควันบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า ฝุ่นโดยเฉพาะ PM2.5 และก๊าซที่มีฤทธิ์ระคายเคือง เนื่องจากจะทำให้เยื่อบุผิวของหลอดลมและถุงลมปอดถูกทำลาย ส่งผลต่อการที่เชื้อโรคจะทะลุทะลวงรุกล้ำเข้าไปในเนื้อเยื่อชั้นลึกได้ง่ายขึ้น

หมอนิธิพัฒน์ ระบุต่อไปอีกว่า การดูแลรักษาปอดภายหลังหายจากโควิด เชื้อไวรัสซาร์โควี-2 ทำให้ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดเกิดปอดอักเสบ แต่ราว 50% จะเกิดปอดอักเสบที่ต้องได้รับการดูแลรักษาโดยแพทย์ มีผู้ป่วยราว 10-15% ที่แพทย์ต้องให้การรักษาด้วยออกซิเจนเสริม และมีราว 5% ที่ปอดอักเสบรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤตจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยเครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทั้งหมดนี้จะมีผู้เสียชีวิตโดยรวมประมาณ 1% ซึ่งกลุ่มคนซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิต ที่สำคัญคือ ผู้สูงอายุ มีโรคอ้วน เป็นเบาหวานที่ควบคุมไม่ดีหรือไม่เคยรู้มาก่อน มีโรคไตเรื้อรังขั้นรุนแรงโดยเฉพาะรายที่ต้องบำบัดทดแทนไต (ฟอกไต) และ ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิดหรือฉีดแต่ยังไม่ครบหรือไม่นานพอ

ปอดอักเสบหลังโควิด
สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ฟื้นตัวจากปอดอักเสบรุนแรง (ที่พบประมาณ 5% ของผู้ป่วยโควิด-19 ดังที่กล่าวมาแล้ว) สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มแรก พบเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 80% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยรวม แพทย์มักสามารถหยุดใช้ออกซิเจนได้ในระหว่างอยู่โรงพยาบาลช่วงหลังป่วยไม่เกิน 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหอบเหนื่อยเล็กน้อยหลังมีกิจวัตรประจำวันเช่นการเดินเข้าห้องน้ำ แต่หลังพักสักครู่ก็กลับเป็นปกติ และวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้ไม่ต่ำกว่า 92% เอกซเรย์ปอดของผู้ป่วยจะค่อยๆ กลับเป็นปกติภายใน 6 สัปดาห์ หรืออาจหลงเหลือแผลเป็นเล็กน้อยได้ กลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องทำการฟื้นฟูปอดเป็นพิเศษ ให้กลับไปใช้มาตรการการเตรียมความพร้อมของปอดตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

กลุ่มที่สอง พบรองลงมาราว 15-20% แพทย์สามารถค่อยๆ หยุดใช้ออกซิเจนได้ในระหว่างอยู่โรงพยาบาลหรือภายใน 6 สัปดาห์หลังออกจากโรงพยาบาล โดยมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งยังมีลักษณะทางเอกซเรย์เข้าได้กับปอดอักเสบหลังจากโควิด (เชื้อหมดไปแล้วแต่ยังเหลือการอักเสบอยู่) ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาด้วยยาต้านการอักเสบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสเตียรอยด์ชนิดกิน โดยจะค่อยๆ ลดขนาดยาลงจนหยุดได้เมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนและเริ่มทำกิจวัตรประจำวันได้โดยไม่หอบเหนื่อยเหมือนในผู้ป่วยกลุ่มแรก กลุ่มนี้ต้องอาศัยการทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูปอดและร่างกายส่วนอื่นไปอย่างน้อยจนกว่าจะสามารถหยุดใช้ออกซิเจน แล้วจึงกลับไปสู่มาตรการการเตรียมความพร้อมของปอด ในระหว่างนี้ต้องดูแลด้านโภชนาการ ด้านสภาพจิตใจ และด้านโรคประจำตัวอื่นถ้ามี ให้เหมาะสมควบคู่กันไปด้วย
กลุ่มสุดท้าย พบได้ไม่เกิน 1-2% แพทย์ไม่สามารถให้หยุดใช้ออกซิเจนได้เป็นเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์หลังจากป่วย โดยมีบางรายที่หายใจด้วยตัวเองตามปกติไม่ได้และต้องทำการเจาะคอไว้เพื่อช่วยในการหายใจ มีน้อยรายต้องอยู่โรงพยาบาลนานเพราะไม่สามารถหยุดใช้เครื่องช่วยหายใจได้ หรือถ้ามีความพร้อมแพทย์จึงให้กลับไปใช้เครื่องช่วยหายใจต่อเนื่องที่บ้าน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เป็นภาระต่อครอบครัวและญาติรวมถึงระบบสุขภาพอย่างมาก ในบางรายแพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านการเกิดพังผืดในปอดหรือเสนอให้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนปอดเมื่อมีข้อบ่งชี้และมีความพร้อม การทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูปอดเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัด เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยประสบความสำเร็จในการกลับมาหายใจได้ดีด้วยตัวเองบางส่วนหรือเกือบทั้งหมด 
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) วันที่ 16 กันยายน 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเพิ่มขึ้นรวม 13,897 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,503 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 394 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,405,374 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 188 ราย หายป่วย 13,527 ราย กำลังรักษา 128,728 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,263,130 ราย