"กฟผ."มอบงบปรับปรุงโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 15.7 ล้านบาท

30 ส.ค. 2564 | 18:56 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2564 | 01:55 น.

กฟผ.มอบงบปรับปรุงโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 15.7 ล้านบาท จัดรถพยาบาลและอุปกรณ์การแพทย์ ร่วมใจช่วยชาวเหนือฝ่าวิกฤตโควิด-19

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ดำเนินการมอบรถพยาบาลและอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อโครงการปรับปรุงอาคารผู้ป่วยหลวงปู่แหวนสุจิณฺโณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ซึ่งเป็นอาคารที่รองรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยมากว่า 40 ปี เพื่อให้มีความทันสมัยและมีเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมรับการรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี 
ทั้งนี้ กฟผ. ได้สนับสนุนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ประกอบด้วย รถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินความปลอดภัยสูง จำนวน 3 คัน เครื่องสลายเนื้อเยื่อด้วยคลื่นความถี่เหนือเสียง จำนวน 1 เครื่อง กล้องส่องตรวจทางเดินหายใจ จำนวน 1 เครื่อง และเครื่องมือตัดเนื้อตายโดยใช้แรงขับเคลื่อนของน้ำแรงดันสูง จำนวน 1 เครื่อง รวมเป็นมูลค่า 15,700,000 บาท ซึ่งครุภัณฑ์ฯ ดังกล่าว จะช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งขอส่งกำลังใจให้ทีมแพทย์มีพลังกายและพลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19) และในสถานการณ์ปกติ

นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ได้รับการแต่งตั้งจากจังหวัดเชียงใหม่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤต โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มสีแดงและสีเหลืองที่ปัจจุบันยังคงมียอดผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สำหรับ โรงพยาบาลฯ สามารถให้บริการรองรับผู้ป่วยจาก 17 จังหวัดในภาคเหนือกว่า 1,450,000 คนต่อปี แต่ปัจจุบันโครงสร้างภายในอาคารผู้ป่วยหลวงปู่แหวนสุจิณฺโณ รวมถึงครุภัณฑ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ มีสภาพทรุดโทรม และเสื่อมสภาพจากการใช้งานที่ต่อเนื่องยาวนาน จึงต้องปรับปรุงโครงสร้างภายในทั้งหมด ได้แก่ ห้องพักผู้ป่วยสามัญ ห้องพักผู้ป่วยพิเศษ ห้องผ่าตัด และห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน 

ตลอดจนจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสนับสนุนกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลได้เริ่มการปรับปรุงโครงสร้างอาคารบางส่วนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 คาดว่าใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี หากแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้วันละประมาณ 500 คน โดยมีความทันสมัยมากขึ้นตามมาตรฐานโรงพยาบาลในปัจจุบัน พร้อมให้บริการรักษาผู้ป่วยทุกระดับอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยวิกฤต และผู้ป่วยโรคโควิด-19