จิตอาสา กฟผ. รับประสานหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิดก่อนส่งต่อหน่วยงานสาธารณสุข

06 ส.ค. 2564 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2564 | 19:59 น.

จิตอาสา กฟผ. รับประสานลงทะเบียนผู้ป่วยโควิด-19 พื้นที่ กทม. และปริมณฑล จัดหาเตียง พร้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม มุ่งเสริมกำลัง สพฉ. และ สสจ.นนทบุรี

ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) ทั่วประเทศมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เตียงในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มีไม่เพียงพอ และการหาเตียงสำหรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามไม่คล่องตัว จิตอาสา กฟผ. จึงร่วมแรงร่วมใจประสานงานอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยโควิด-19 แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ ช่วยประสานจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วยที่รอเข้ารับการรักษาทั้งประชาชนทั่วไป พนักงาน และลูกจ้าง กฟผ. รวมถึงครอบครัว ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
ทั้งนี้ หลังจากผู้ป่วยได้รับการจัดสรรเตียงแล้ว กฟผ. จะประสานความร่วมมือกับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ในโครงการร่วมใจดูแลผู้ป่วย COVID-19 เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยดังกล่าวไปยังโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนามในจังหวัดใกล้เคียง หรือส่งกลับภูมิลำเนาโดยเร็วที่สุด

จิตอาสา กฟผ. ช่วยหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด-19

นอกจากนี้ กฟผ. ยังร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี (สสจ.นนทบุรี) รับประสานงานกับผู้ป่วยโควิด-19  ที่ลงทะเบียนผ่านทาง LINE Official นนท์COV-19 โดย จิตอาสา กฟผ. ทำหน้าที่โทรศัพท์สอบถามอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยในจังหวัดนนทบุรี และกรอกข้อมูลลงระบบ เพื่อให้ สสจ.นนทบุรี ดำเนินการรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ทั้งนี้ กฟผ. ได้พัฒนาระบบติดตามสถานะของผู้ป่วยโควิด-19 เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจเช็คพิกัดและติดตามอาการของผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนเข้ารับการรักษาจนกระทั่งสามารถกลับบ้านได้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวช่วยเสริมกำลังให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และทำให้การหาเตียงสำหรับผู้ป่วยเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา จิตอาสา กฟผ. สามารถประสานหาเตียงให้กับผู้ป่วยที่มีทั้งผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง และผู้ป่วยที่จำเป็นต้องหาเตียงให้ได้โดยเร็ว เช่น ผู้ป่วยแม่และทารกวัย 7 เดือน ที่มีอาการไอรุนแรง และผู้ป่วยอาการหนัก เป็นต้น โดยหลังจากผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาแล้ว จิตอาสา กฟผ. จะติดตามอาการโดยตลอด เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า กฟผ. ไม่ได้ทอดทิ้ง เมื่อหายป่วยและสามารถกลับบ้านเพื่อกักตัวสังเกตอาการ 14 วัน จิตอาสา กฟผ. จะแจ้งวิธีปฏิบัติ พร้อมทั้งส่งอาหารแห้ง น้ำดื่ม และของใช้จำเป็นระหว่างช่วงกักตัว