สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทันสิ้นปีหากวัคซีนมีพอหลังฉีดมาก 9.15 แสนโดสวันเดียว

29 ส.ค. 2564 | 11:37 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2564 | 18:41 น.

หมอเฉลิมชัยเผยประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิดวันเดียวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 9.15 แสนโดส เชื่อถ้ามีวัคซีนมาเพียงพอ สร้างภูมิคุ้มกันหมู่เกิน 70% ทันสิ้นปีแน่นอน

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
ไทยฉีดวัคซีนวันเดียวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 9.15 แสนโดส ยอดสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านโดส
จากสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19)ที่มีการระบาดกว้างขวางทั่วโลก และมีผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการเป็นจำนวนมาก
บางรายงานสรุปว่า ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการมีมากถึง 80% หรือคิดเป็นสี่เท่าของผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการ
นอกจากนั้นผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการถ้าติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา จะเริ่มแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ก่อนที่จะแสดงอาการนานถึง 2 วัน ทำให้การควบคุมการระบาดของโรค โควิด-19 ทำได้ยากลำบากมากขึ้น
จากเหตุปัจจัยดังกล่าว จึงมีการระบาดระลอกใหม่ทั่วโลก ในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยมีต้นเหตุมาจากไวรัสสายพันธุ์เดลตา
หนึ่งมาตรการสำคัญ ที่ประเทศต่างๆ ใช้ในการควบคุมการระบาดคือ การเร่งฉีดวัคซีนโควิดให้ครอบคลุมประชากรให้มากที่สุด จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และในเวลาสั้นที่สุด
แม้จะมีรายงานบางส่วนว่า พบประเทศที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ก็ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระลอกใหม่ได้ แต่ผลของวัคซีนดังกล่าว ก็ยังคุมจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก และลดการเสียชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ

ประเทศต่างๆจึงเร่งมาตรการฉีดวัคซีนกันเป็นขนานใหญ่  ซึ่งต้องประกอบด้วย 2 ปัจจัยสำคัญ คือ
1.ต้องเร่งจัดหาวัคซีนมาสำรองให้มีปริมาณมากเพียงพอ ที่จะฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากร
2.ต้องเร่งปรับหรือสร้างศักยภาพความสามารถ ในการฉีดวัคซีนต่อวันให้มากที่สุด เร็วที่สุด
ผู้เขียนได้เคยวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เมื่อหลายเดือนก่อนว่า ปัญหาการฉีดวัคซีนจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ของไทย  ไม่น่าจะเป็นเรื่องศักยภาพความสามารถในการฉีด หากแต่จะเป็นเรื่องปริมาณของวัคซีนมากกว่า เพราะศักยภาพโรงพยาบาลของรัฐซึ่งมีประมาณ 1000 โรง เราสามารถฉีดร่วมกันได้วันละ 500,000 โดสเป็นเรื่องปกติ และในอดีตก็เคยทำสถิติที่สูงถึงกว่า 600,000 โดสมาแล้ว

สรุปสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพความสามารถในการฉีดวัคซีนต่อวัน เป็นสถิติสูงสุดคือ ฉีดวัคซีนได้รวมถึง 915,738 โดส แยกเป็น
เข็มที่หนึ่ง 547,128 โดส
เข็มที่สอง 361,284 โดส
เข็มที่สาม 7326 โดส
ทำให้ยอดสะสมการฉีดวัคซีนของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 30,420,507 โดสแยกเป็น
เข็มที่หนึ่ง 22.61 ล้านโดส
เข็มที่สอง 7.22 ล้านโดส
เข็มที่สาม 0.58 ล้านโดส

ตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ว่า ควรจะฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่คือฉีดครอบคลุมประชากร 50 ล้านคนจากประชากร 70 ล้านคน คิดเป็น 70% นั้น เราต้องฉีดให้ถึง 100 ล้านโดสภายใน 31 ธค 2564
ขณะนี้เหลือเวลาก่อนถึงสิ้นปีอีก 126 วัน มีวัคซีนที่จะต้องฉีดให้ได้อีก 70 ล้านโดส นั่นหมายความว่าจะต้องฉีดเฉลี่ยขั้นต่ำวันละ 5.55 แสนโดส
ซึ่งศักยภาพที่ฉีดได้กว่า 9 แสนโดส ก็ทำให้เกิดความมั่นใจของสาธารณะว่า ถ้ามีวัคซีนมาเพียงพอแล้ว ศักยภาพของบุคลากรและระบบโรงพยาบาล จะสามารถฉีดวัคซีนได้ทันอย่างแน่นอน
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิดในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-27 ส.ค. 64 พบว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 30,420,507 โดส แบ่งเป็นฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 22,617,701 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 7,221,368 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 581,438 ราย