ผลวิจัยพบโควิดสายพันธุ์เดลตารุนแรงกว่าอัลฟาถึง 2 เท่าจนต้องนอนโรงพยาบาล

29 ส.ค. 2564 | 10:11 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2564 | 00:46 น.

หมอเฉลิมชัยเผยผลวิจัยพบโควิดสายพันธุ์เดลตารุนแรงกว่าอัลฟาถึง 2 เท่าจนต้องนอนโรงพยาบาล ระบุวัคซีน Pfizer มีประสิทธิผลในการป้องกันเดลตาไม่ให้เจ็บป่วยหนักได้ 96% ส่วน AstraZeneca มีประสิทธิผล 92%

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
ไวรัสสายพันธุ์ Delta (เดลตา) รุนแรงกว่าสายพันธุ์ Alpha (อัลฟา) ถึง 2 เท่า ทำให้ป่วยเป็นโควิดจนต้องนอนโรงพยาบาล
Cr.picture Inn news
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ไวรัสก่อโรคโควิด-19 เป็นไวรัสโคโรนาลำดับที่เจ็ด ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมเดี่ยวอาร์เอ็นเอ ( RNA ) จึงมีการกลายพันธุ์ได้ง่ายโดยธรรมชาติ
ปัจจุบันกลายพันธุ์ไปแล้วมากกว่า 39 สายพันธุ์ โดยมีสายพันธุ์หลักที่เรียกว่า VOC : Variant of Concern  รวม 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบต้า แกมม่า และเดลตา
แต่สายพันธุ์ที่เป็นประเด็น ทั้งความสามารถในการแพร่ระบาด และการก่อให้เกิดอาการรุนแรง คือ สายพันธุ์อัลฟาและเดลตา
ในประเด็นเรื่องความสามารถในการแพร่ระบาด ได้ข้อยุติเป็นที่เรียบร้อยว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตามีความสามารถในการแพร่ระบาดมากกว่าสายพันธุ์อัลฟ่ามากทีเดียว ( 40-60%)
จึงปรากฏในประเทศต่างๆว่า เมื่อสายพันธุ์เดลตาไประบาดในประเทศที่มีสายพันธุ์อัลฟาเป็นหลักอยู่ก่อนแล้ว ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน สายพันธุ์เดลตาก็จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทน และสายพันธุ์อัลฟาก็จะจางหายไป พบได้ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ตลอดจนในประเทศไทยในปัจจุบัน
แต่ก็ยังมีคำถามที่จะต้องตอบต่อไปว่า แล้วความรุนแรงในการทำให้เกิดอาการของโรค สายพันธุ์อัลฟากับเดลตา จะแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด

มีงานวิจัยเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Infectious Diseases ซึ่งทำโดย PHE : Public Health England และ MRC : Medical Research Council ของประเทศอังกฤษ ได้ติดตามผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสจำนวน 43,338 ราย ในช่วงระยะเวลา 29 มีนาคมถึง 23 พฤษภาคม 2564
ในช่วงเวลาดังกล่าว จะมีไวรัสสายพันธุ์อัลฟาเป็นหลักก่อน แล้วจึงค่อยมีสายพันธุ์เดลตามาเบียดแทรกในภายหลัง

Delta รุนแรงกว่าสายพันธุ์ Alpha ถึง 2 เท่า
โดยพบสายพันธุ์อัลฟา 80% (34,656 ราย) สายพันธุ์เดลตา 20% (8682 ราย) แต่ในสัปดาห์สุดท้ายของการรวบรวมคือวันที่ 17-23 พฤษภาคม พบสายพันธุ์เดลตามากถึง 65%  ( 3973 รายจาก 6090 ราย)
เมื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบอาการป่วยที่รุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ( Hospitalization ) พบว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา มีจำนวนที่ต้องเข้าโรงพยาบาลมากเป็นสองเท่าของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อัลฟา
จึงทำให้ได้ผลสรุปในเบื้องต้นที่ชัดเจนว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตามีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อัลฟา
ในขณะเดียวกันก็พบว่า กลุ่มที่มีการติดเชื้อไวรัสเป็น
1.ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเป็นส่วนใหญ่ คือ 74% ( 32,078 ราย )
2.ได้รับวัคซีนครบถ้วนสองเข็มเพียง 1.8% ( 794 ราย ) 
3.ได้รับวัคซีนหนึ่งเข็ม ยังมีภูมิคุ้มกันไม่พอ 24% ( 10,466 ราย )
นอกจากนั้นยังพบว่า วัคซีน Pfizer สามารถป้องกันหรือมีประสิทธิผลในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาไม่ให้เจ็บป่วยหนักได้ 96% ส่วนวัคซีน AstraZeneca มีประสิทธิผล 92%

จึงพอสรุปได้ในภาพรวมดังนี้
1.ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า แพร่ระบาดได้รวดเร็วกว้างขวางกว่าไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า
2.ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ก่อให้เกิดอาการรุนแรง จนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่าไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า
3.ผู้ที่ฉีดวัคซีนสองเข็ม มีประสิทธิผลในการป้องกันไวรัสได้ดีทั้งสายพันธุ์อัลฟ่าและเบต้า แม้ จะมีประสิทธิผลลดลงเป็นลำดับเมื่อเวลาผ่านไปก็ตาม
4.วัคซีนของ Pfizer มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการหนักได้ 96% วัคซีนของ AstraZeneca มีประสิทธิผล 92%
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 29 สิงหาคม 64 จากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 16,536 ราย
ติดในระบบ 13,894 ราย

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19
ติดจากตรวจเชิงรุก 2306 ราย
ติดในสถานกักตัว 8 ราย
ติดในเรือนจำ 328 ราย
สะสมละลอกที่สาม 1,145,228 ราย สะสมทั้งหมด 1,174,091 ราย
หายกลับบ้าน 20,927 ราย
สะสม 957,820 ราย
รักษาตัวอยู่ 177,702 ราย
โรงพยาบาลหลัก 15,573 ราย
โรงพยาบาลสนาม 78,692 ราย
แยกกักที่บ้าน 79,327 ราย
อาการหนัก 5093 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 1067 ราย
ติดเชื้อเข้าข่าย 2607 ราย
สะสม 74,369 ราย
ตรวจ PCR วันละ 48,487 ตัวอย่าง
เสียชีวิต 264 ราย
สะสมระลอกที่สาม 11,049 ราย
สะสมทั้งหมด 11,143 ราย