"กนอ." เล็งดึง 321 โรงงานจัดทำมาตรฐาน PSM จัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต

20 ส.ค. 2564 | 09:55 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2564 | 16:55 น.

กนอ. ตั้งเป้าดึง 321 โรงงานการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิตในปีนี้ ปรับแผนให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง ดึงโรงงาน ชุมชน เจ้าของพื้นที่และผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วม

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมประชุมออนไลน์ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของประเทศไทยในยุค Covid-19(Thailand Occupational Safety,Health, and Working Environment Webinar) จัดโดย สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) กระทรวงแรงงาน ในหัวข้อ“การป้องกันและลดอุบัติภัยร้ายแรง ในโรงงานอุตสาหกรรม : เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยระบุว่า กนอ.มีมาตรการบริหารจัดการและส่งเสริมผู้ประกอบการในการลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ/อุบัติภัยภายในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งออกข้อบังคับคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 (ข้อบังคับฯ PSM) ซึ่งมีผลบังคับใช้กับโรงงานที่เข้าข่ายในนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่ง โดยข้อบังคับดังกล่าวเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต(PSM) และการตรวจประเมินความปลอดภัยกระบวนการผลิตในนิคมอุตสาหกรรม 
ทั้งนี้ ปี 64 ตั้งเป้าให้โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่เข้าข่ายต้องจัดทำมาตรฐาน PSM ประมาณ 321 โรง ต้องจัดทำมาตรฐานให้ครบทุกโรง โดยข้อบังคับดังกล่าวได้กำหนดให้มีการตรวจประเมินความปลอดภัยกระบวนการผลิตในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปมีการตรวจประเมินทุก 5 ปี และโรงงานขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงให้มีการตรวจประเมินทุก 3 ปี

สำหรับกระบวนการจัดทำและปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยตามข้อบังคับ PSM แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1.ความมุ่งมั่นต่อการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิต ,2.ความเข้าใจและระบุปัญหาปัจจัยความเสี่ยง ,3.การบริหารความเสี่ยง และ 4.การถอดบทเรียน โดยไม่ต้องการให้มองว่ามาตรฐาน PSM ของ กนอ.เป็นเพียงเอกสารทางราชการ หรือการทำ ISO เท่านั้น

ภาพรวมระบบ PSM

แต่เป็นความมุ่งมั่นในการทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร พนักงาน กนอ. และชุมชนเจ้าของพื้นที่ ที่ต้องเข้ามาเป็นส่วนร่วมสนับสนุนข้อมูลซึ่งกันและกัน โดยมีการวางแผนล่วงหน้าว่า หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นจะดำเนินการอย่างไรให้เป็นขั้นตอน และลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด โดยอาจมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่าปัจจัยของความสำเร็จทุกการดำเนินงาน คือ การทำงานอย่างมีส่วนร่วมจริงจัง ไม่ใช่เป็นแต่กฎหมายอยู่ในกระดาษเท่านั้น

นอกจากนี้ กนอ.ยังส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้เข้าสู่กระบวนการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) โดยสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ และพัฒนาสิทธิประโยชน์ รวมทั้งมาตรการจูงใจสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ(Eco Factory) และเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของ กนอ.โดยแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เน้นสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านคุณลักษณะมาตรฐานและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไว้ใน 5 มิติ 22 ด้าน ที่มุ่งเน้นให้ชุมชน นิคมอุตสาหกรรม และสังคมอยู่ด้วยกันแบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน และเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ คุณภาพชีวิตของชุมชน รวมทั้งสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ดีควบคู่ตามไปด้วย