"กนอ." สั่งทุกนิคมอุตสาหกรรมทำคู่มือรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงาน

18 ส.ค. 2564 | 10:32 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2564 | 17:31 น.

กนอ.สั่งทุกนิคมอุตสาหกรรมจัดทำคู่มือรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงาน และมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะสกัดโควิด-19 ในสถานประกอบการ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เพื่อให้การทำงานของสถานประกอบการสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างไม่มีสะดุด และยังสามารถควบคุมวงจรการแพร่เชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในสถานประกอบการได้ กนอ. จึงได้สั่งการนิคมอุตสาหกรรมจัดทำคู่มือและแผนการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงานหรือสถานประกอบการ หรือ Factory Accommodation Isolation (FAI) และมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal โดยให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมเร่งปฏิบัติตามคู่มือและแผนการดำเนินงานเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในโรงงานที่อยู่ในทุกนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการแพร่กระจายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้เริ่มที่จะมีการแพร่ระบาดเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในหลายจังหวัด 
ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกับ ผอ.นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศในครั้งนี้ ได้แจ้งถึงมาตรการ FAI และ Bubble and Seal ที่เป็นไปตามที่ได้มีการประชุมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในโรงงานและสถานประกอบการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องเร่งควบคุมและเฝ้าระวังป้องกันให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยล่าสุด กนอ. ได้มีประกาศ กนอ. ฉบับที่ 83/2564 เรื่องแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม 

สำหรับมาตรการหลักของการทำ FAI เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้แพร่กระจายออกนอกโรงงาน โดยรูปแบบที่เหมาะสมคือต้องมีเตียงไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนพนักงาน และต้องเพียงพอต่อการแยกกักตัว ต้องมีแพทย์ที่สามารถให้คำแนะนำได้ มีอุปกรณ์ตรวจวัดที่ได้มาตรฐาน มีแนวทางส่งตัวผู้ป่วยฉุกเฉิน และมีการดูแลด้านโภชนาการอย่างครบถ้วน ขณะที่มาตรการ Bubble and Seal เพื่อควบคุมโรค คนที่แข็งแรง หรือสามารถอยู่เป็นกลุ่มย่อยในพื้นที่จำกัด ใช้การสุ่มตรวจเพื่อประเมินสถานการณ์ ถ้ามีความชุกของการติดเชื้อมากกว่า 10% จะต้องแยกผู้ติดเชื้อออกแล้วให้ส่วนที่เหลือทำงานต่อ และเฝ้าสังเกตอาการกลุ่มเสี่ยงต่อไป

กนอ.สั่งทุกนิคมฯจัดทำคู่มือรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงาน
อย่างไรก็ตาม กนอ.มีแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามทั้ง 2 มาตรการ ได้แก่ การสนับสนุนสถานที่หรือช่วยจัดหาสถานที่ทำ FAI ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานราชการหรือโรงพยาบาล ตลอดจนจะจัดสรรงบประมาณที่จำเป็น อาทิ ค่าชุด PPE สำหรับแพทย์และเจ้าหน้าที่ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อ (PCR) ค่าชุดตรวจ (ATK) ค่าสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าอาหาร ค่าแพทย์ ค่ายารักษาโรค ค่าอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วย เครื่องวัดออกซิเจน ปรอทวัดไข้ เป็นต้น

“สถานประกอบการหลายแห่งในนิคมฯ ทั่วประเทศเริ่มทำ FAI และ Bubble and Seal เองแล้ว โดยนิคมฯ ที่เริ่มดำเนินการตามมาตรการนี้ อาทิ นิคมฯ สมุทรสาคร และนิคมฯ สินสาคร จ.สมุทรสาคร นิคมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา และนิคมฯ นครหลวง จ.อยุธยา แต่หลังการหารือร่วมกับ ผอ.นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จะมีการสั่งการให้ทุกสถานประกอบการในทุกนิคมอุตสาหกรรมปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”