กนอ.ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ใน 5 ปี

16 ส.ค. 2564 | 11:04 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2564 | 18:03 น.

กนอ.ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ใน 5 ปี พร้อมร่วมประชุมกรอบความร่วมมือและการฝึกอบรมระดับโลกปี 2564 พลังงานสีเขียว หนทางสู่โลกที่สะอาดและยั่งยืน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือและการฝึกอบรมระดับโลกปี 2564 (“2021 Global Cooperation and Training Framework (GCTF) Virtual Conference on Green Energy: A Way to A Clean and Sustainable Earth ) พลังงานสีเขียว : หนทางสู่โลกที่สะอาดและยั่งยืน ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานวิจัยด้านนวัตกรรมและอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม จากนานาประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ออสเตรีย เวียดนาม ฟิจิ กัวเตมาลา สวีเดน เนเธอร์แลนด์  อินโดนีเซีย และไต้หวัน เป็นต้น
โดยในช่วงของการอภิปรายและถาม-ตอบของบุคคลสำคัญเกี่ยวกับประสบการณ์และทางออกที่เป็นไปได้สำหรับการเปลี่ยนแปลงพลังงานสีเขียว : VIP Panel Discussion and Q&A : Exprience and Potential Solution for Green Energy Transformation กนอ.ได้นำเสนอภาพรวมของการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) โดยชูโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน เช่น โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) และโครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโก ระยอง อำเภอมาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่มุ่งเน้นการเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะสีเขียว (Smart and Green Industrial Estate) เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC)

กนอ.มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 2.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายใน 5 ปี (2564 -2568 )โดยสนับสนุนให้นิคมอุตสาหกรรมหันมาใช้พลังงานจากแผงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar cell) พลังงานสะอาดและพลังงานสีเขียว (Green Energy) รวมทั้งไฮโดรเจนมาเป็นพลังงานทดแทน เช่น พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutral Industrial Estate) โดยผ่านการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดนำเอาพลังงานไฮโดรเจนเข้ามาใช้แทนที่

วีริศ ร่วมประชุมกรอบความร่วมมือและการฝึกอบรมระดับโลกปี 2564

และศึกษาพัฒนาการลงทุนโครงการโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power Business) และพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาแห่งอนาคตผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะซึ่งนอกจากรวมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไว้ในที่เดียวกันแล้วยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อมได้มาตรฐานสากลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตอื่นๆ

สำหรับการประชุมกรอบความร่วมมือและการฝึกอบรมระดับโลกปี 2564 (2021 Global Cooperation and Training Framework (GCTF) Virtual Conference on Green Energy: A Way to A Clean and Sustainable Earth ) พลังงานสีเขียว : หนทางสู่โลกที่สะอาดและยั่งยืน เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกาและไต้หวัน   ที่มีการลงนามมาตั้งแต่ปี 2015 โดยมุ่งเป้าไปที่การจัดการปัญหาระดับโลกที่นานาประเทศมีความกังวลร่วมกัน เช่น ด้านสาธารณสุข กฎหมายและความร่วมมือบังคับใช้ ประสิทธิภาพการใช้พลังงานความปลอดภัยในโลกไซเบอร์และการทำตลาดอีคอมเมิร์ซ มนุษยธรรม ความช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย และการรู้เท่าทันสื่อ โดยมีเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญประมาณ 2,400 คน จากประเทศสมาชิก 87 ประเทศ โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 34