ฉีดวัคซีนชั้นผิวหนังประหยัดได้ 5-10 เท่ากระตุ้นภูมิสูงกว่าเข้ากล้ามเนื้อ

10 ส.ค. 2564 | 09:05 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2564 | 16:04 น.
1.4 k

หมอเฉลิมชัยเผยการฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนังช่วยประหยัดวัคซีนได้ 5-10 เท่า ระบุงานวิจัยพบกระตุ้นภูมิได้สูงกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และการหายป่วยจากโควิด-19

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
ประหยัดวัคซีนโควิดลงได้มาก 5-10 เท่าตัว ถ้าเปลี่ยนวิธีจากฉีดเข้ากล้ามเป็นฉีดเข้าผิวหนัง
จากงานวิจัยมหาวิทยาลัยของเนเธอร์แลนด์ (Leiden University) ได้แสดงให้เห็นถึงแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด แบบฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง แทนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ พบว่าสามารถลดปริมาณวัคซีนที่ใช้ลงได้มาก 5-10 เท่าตัว โดยที่มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคเท่าเดิม น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในภาวะที่โลกกำลังขาดแคลนและแย่งชิงวัคซีนโควิดกันอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีรายได้น้อยหรือยากจน
โดยใช้ความรู้ทางการแพทย์เดิมจากหลากหลายงานวิจัยในอดีตว่า  การฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนังแทนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จะประหยัดวัคซีนได้อย่างมาก เช่น
วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด
วัคซีนป้องกันไข้เหลือง
โดยในงานวิจัยนี้ ได้ทำการทดลองฉีดวัคซีนของ Moderna (mRNA-1273) ซึ่งปกติจะฉีดขนาด 100 ไมโครกรัมเข้ากล้ามเนื้อ
ทีมนักวิจัยของเนเธอร์แลนด์ได้ลองฉีดขนาด 10 และ 20 ไมโครกรัมเข้าชั้นผิวหนังแทน โดยการที่ใช้อาสาสมัครอายุ 18 ถึง 30 ปี ส่วนที่หนึ่งจำนวน 10 คน และส่วนที่สองจำนวน 30 คน ในช่วง 15 เมษายนถึง 3 พฤษภาคม 2564
การฉีดแบบเข้าผิวหนังที่พบว่าจะใช้วัคซีนปริมาณน้อยกว่านั้น มาจากองค์ความรู้ที่พบว่า
ในชั้นผิวหนังจะมีเซลล์ชนิดหนึ่ง (APC : Antigen Presenting Cell) ที่สามารถปรับแต่งไวรัสหรือชิ้นส่วนของไวรัส แล้วนำไปเสนอต่อระบบภูมิคุ้มกัน (B-cell , T-cell) ให้สร้างภูมิคุ้มกันออกมา ซึ่งเซลล์ชนิดนี้ มีจำนวนในชั้นผิวหนัง มากกว่าในกล้ามเนื้อ จึงสามารถใช้ปริมาณวัคซีนที่ลดลง แต่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง

โดยงานวิจัยนี้จะดู
1.ความปลอดภัยหรือผลข้างเคียง
2.ระดับความสามารถในการกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกัน
พบว่าในการวิจัยส่วนที่หนึ่ง ฉีด 10 ไมโครกรัมเข้าชั้นผิวหนัง กระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นสูง 1696 หน่วยโดยวัดที่ 14 วันหลังฉีดเข็มสองแล้ว
ส่วนในอาสาสมัครส่วนที่สอง ที่ฉีด 20 ไมโครกรัมเข้าชั้นผิวหนัง ได้ระดับภูมิคุ้มกัน 2057 หน่วย
ฉีด 20 ไมโครกรัมเข้าชั้นกล้ามเนื้อ ได้ระดับภูมิคุ้มกัน 1406 หน่วย
เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีน เข้าชั้นกล้ามเนื้อขนาดปกติ 100 ไมโครกรัม จะได้ภูมิคุ้มกันที่ 1558 หน่วย และเมื่อเปรียบเทียบกับระดับภูมิคุ้มกันสำหรับคนที่หายป่วยโดยธรรมชาติ จะพบว่ามีระดับภูมิคุ้มกันเพียง 107 หน่วย ต่างกันถึง 14-20 เท่า

การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง
อย่างไรก็ตามการทดลองวิจัยครั้งนี้มีข้อจำกัดคือ
1.จำนวนอาสาสมัครหรือจำนวนตัวอย่างยังน้อยเกินไป
2.ไม่ครอบคลุมคนทุกช่วงวัย เพราะเป็นการทดลองในวัยหนุ่มสาวอายุ 18 ถึง 30 ปี
3.ยังไม่ได้ติดตามผลของระดับภูมิคุ้มกัน ว่าหลังจากที่ฉีดไปแล้วเป็นระยะเวลามากกว่า 14 วันจะเป็นอย่างไร

เทคนิคการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง จะมีประโยชน์อย่างมากในการทำให้ประหยัดวัคซีนทั่วโลกลง 5-10 เท่า
แต่ที่จะไม่สะดวกก็คือ การฉีดเข้าผิวหนังจะเจ็บกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และบุคลากรที่จะฉีดเข้าชั้นผิวหนังได้ จะต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี เพราะจะฉีดยากกว่าวิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
ก็คงจะต้องติดตามดูกันต่อไป ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการฉีดหรือไม่ โดยเฉพาะในประเทศที่มีปริมาณวัคซีนไม่พอ
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกท่านหนึ่งที่สนับสนุนให้ใมีการฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนัง โดยได้โพสข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า วัคซีน ชั้นผิวหนัง ใช้ขนาด 1/5 ถึง 1/10 ของขนาดปกติที่ฉีดเข้ากล้าม ข้อมูลเริ่มออกมามากขึ้นเรื่อยๆ รีบตัดสินใจยังไม่สายที่จะทำให้ 1,000,000 โดส กลับใช้ได้ในคนจำนวนมากขึ้นกลายเป็นห้าถึง 10,000,000 โดส และถ้าฉีดแบบวัคซีนพิษสุนัขบ้า วันที่ศูนย์ สามและเจ็ดควรจะได้ภูมิคุ้มกันเริ่มขึ้นในวันที่ 10 ถึงวันที่ 14

ไม่ต้องรอสองเดือน (แอสตร้า 2 เข็ม ห่าง2 เดือน) หรือ ซิโนแวค (2เข็มห่าง 1เดือน แต่ภูมิขึ้นช้า) หรือ mRNA (2 เข็มห่าง 2 เดือน)