ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าไขว้ไฟเซอร์อายุเกิน 50 ปีภูมิขึ้นสูงกว่าแอสตร้า 2 เข็ม

09 ส.ค. 2564 | 08:26 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2564 | 15:25 น.
1.2 k

หมอนิธิพัฒน์เผยผลวิจัยจากประเทศอังกฤษพบฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไขว้ไฟเซอร์อายุเกิน 50 ปีที่ไม่มีโรคเสี่ยงภูมิขึ้นสูงกว่าฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มมาก

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า
คงต้องโทษผลจากการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ ทำให้ตัวขี้เกียจเข้าครอบงำ จนใช้เป็นข้ออ้างหยุดโพสต์ไปหนึ่งวัน ที่จริงเรื่องของวัคซีนโควิดมีประเด็นหลายเรื่องที่น่าสนใจ แต่ในบ้านเราตอนนี้คงไม่พ้นเข็มสามของบุคลากรทำไมมาไม่เต็มสูบ หวังว่ารอบต่อไปคงมาเพียงพอให้สมค่ากับคนที่เขารอ และต้องครอบคลุมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยในทุกระดับไม่ใช่เฉพาะแพทย์และพยาบาล และครอบคลุมทั้งที่ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ป่วยโควิด (ได้รับเป็นกลุ่มแรกก่อน) และทั้งที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่โควิดแต่ก็ถือว่ามีความเสี่ยง (ได้รับเป็นกลุ่มถัดไป) ส่วนที่ให้โรงพยาบาลทำให้โปร่งใสด้วยการประกาศชื่อคนที่ได้รับ ซึ่งต้องใช้มาตรฐานเดียวกันกับทุกคนทั้งหมดในทุกวงการที่ได้รับวัคซีนนี้ไปด้วยเช่นกัน มาช่วยกันจับตาอย่าให้ใครที่ไม่ได้อยู่ด้านหน้า มาตุกติกเอาวัคซีนที่บุคลากรด่านหน้าควรได้รับไป โดยจับมือใครดมไม่ได้
มีคนแซวกันว่าใครฉีดวัคซีนโควิดแล้วผลข้างเคียงน้อยภูมิจะขึ้นไม่ดี แต่เมื่อดูการศึกษาย้อนหลังของบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศเกาหลี พบว่าคนที่ฉีดไปแล้วต้องกินยาลดไข้ดูเหมือนจะมีภูมิคุ้มกัน (ชนิดหนึ่งที่นิยมวัดกัน) สูงกว่าคนที่ไม่ได้กินเล็กน้อย แต่โดยรวมคนที่มีผลข้างเคียงมากหรือน้อยภูมิก็ขึ้นไม่แตกต่างกัน ผลของการศึกษานี้ยังช่วยหักล้างความคิดของนักวิจัยกลุ่มหนึ่ง ที่ว่าการกินยาพาราเซตหรือยาต้านการอักเสบทั้งก่อน (ป้องกันเกิดอาการ) และหลังฉีดวัคซีน (ทั้งป้องกันและบรรเทาอาการ) จะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อวัคซีนไม่ดีเท่าที่ควรและภูมิจะขึ้นไม่ดี

ที่น่าสนใจคือการศึกษาในประเทศอังกฤษ ที่ทดลองไขว้วัคซีนในอาสาสมัครอายุเกิน 50 ปีที่ไม่มีโรคเสี่ยงหรือมีแต่โรคนั้นๆ ไม่รุนแรงและควบคุมได้ดี โดยประชากรทั้งหมดที่ศึกษาเป็นชาวเอเชียราว 10+% พบว่าการฉีดวัคซีนของแอสตราแล้วไขว้ด้วยของไฟเซอร์ห่างกัน 4 สัปดาห์ ให้ภูมิคุ้มกันที่วัดทั้ง 4 วิธีขึ้นสูงใกล้เคียงกับการฉีดของไฟเซอร์ทั้งสองเข็ม และดีกว่าการฉีดของไฟเซอร์แล้วตามด้วยของแอสตรา อีกทั้งดีกว่าการฉีดของแอสตราสองเข็มมากทีเดียว 

ระดับภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนไขว้กัน
เป็นธรรมดาของทีมงานเมื่อหมดช่วงภาระกิจต้องมีการสรุปบทเรียน วันนี้ครบ 14 วันที่ทำหน้าที่หัวเรือทีมโควิดวิกฤตศิริราชทีม 1 ในส่วนแพทย์เรามีกัน 6 คน ทุกคนยังดูกระตือรือร้นกันดี แม้จะกรำศึกกันมายาวนาน เรามีเตียงรับผู้ป่วย 7 เตียง ดังนั้นในรอบนี้เราจึงมีศักยภาพ 14x7 = 98 bed-days ทีมสามารถทำให้ผู้ป่วยพ้นวิกฤตและย้ายออกได้ 6 คน ไม่มีการเสียชีวิต ดังนั้นผู้ป่วยวิกฤตของเรา 1 คน จึงใช้เวลาอยู่เฉลี่ย 98/6 = 16.3 วัน ค่าใช้จ่ายต่อวัน (รัฐบาลรับผิดชอบทั้งหมด) ตกราวสามหมื่นบาทเป็นอย่างน้อย ดังนั้นเฉพาะค่าใช้จ่ายในไอซียูจึงอยู่ที่คนละไม่ต่ำกว่าครึ่งล้าน รวมๆ แล้วค่าใช้จ่ายสำหรับคนที่ป่วยหนักของประเทศทั้งหมดตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน น่าจะเกินหนึ่งหมื่นล้านบาทไปแล้ว สำหรับรายที่เราช่วยชีวิตมาได้ 6 คนนี้ มีสองคนที่อายุมาก (รวมคุณลุงที่เคยกล่าวถึงไปแล้วด้วย) ยังไม่พ้นขีดอันตรายไปเสียทีเดียว นี่คงเป็นปัจจัยสำคัญที่การสูญเสียชีวิตที่มากอยู่ในขณะนี้มักเกิดกับผู้ที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป โดยพบราว 70% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด

ในขณะที่เรากำลังไต่อันดับโลกทั้งจำนวนผู้ป่วยใหม่รายวัน (ลำดับที่ 10) และจำนวนผู้เสียชีวิต
สำหรับสถานการร์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 9 สิงหาคม 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 19,603 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,290 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 313 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 747,245 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 149 ราย หายป่วยเพิ่ม 19,819 ราย กำลังรักษา 214,421 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 527,908 ราย