ยุทธศาสตร์หยุดการแพร่ระบาดของโควิดหมอธีระวัฒน์ชี้ต้องบุกเร็ว แรง เข้มข้น

04 ส.ค. 2564 | 08:43 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2564 | 21:01 น.

หมอธีระวัฒน์เผยต้องบุกเร็ว แรง เข้มข้นสร้างแรงกดดันต่อไวรัส พร้อมยกตัวอย่างประเทศจีนในการดำเนินการหยุดเชื้อโควิด-19 ไม่ให้แพร่กระจาย

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
บุกเร็ว แรง เข้มข้น สร้างแรงกดดันต่อไวรัส
หมอธีระวัฒน์ ระบุว่า การป้องกันการปะทุของสายพันธุ์เพี้ยนเหล่านี้ คงต้องยกให้ประเทศจีนเป็นประเทศที่ใช้บริบท ของการควบคุมภายในร่างกายมนุษย์ และภายนอกร่างกายมนุษย์ ในการคุมสายพันธุ์เดิมในพื้นที่ไม่ให้กลายเพี้ยน แต่จน 2564 นี้ มีการรุกล้ำจากเดลตาเช่นกัน
กลยุทธที่ใช้ นั่นคือ การสร้างแรงกดดันอย่างรุนแรงไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อจากคนหนึ่งไปหาคนอื่น รวมทั้งทำความสะอาดพื้นผิวสาธารณะต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ และมีการเข้มงวดตรวจคัดกรองและแยกตัวออกทันที ที่วินิจฉัยได้ว่ามีการติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตาม ดังจะเห็นได้จากการที่สามารถตรวจคนได้เป็น 1,000,000 คนภายในระยะเวลาไม่กี่วันในพื้นที่หนึ่ง และมีวินัยสูงสุด
การสร้างแรงกดดันที่สำคัญต่อเชื้อที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ได้แก่ การวินิจฉัยได้เร็วที่สุดและให้การรักษาเร็วที่สุด ตั้งแต่นาทีแรกควบรวมการใช้สมุนไพรที่มีดาษดื่นและขึ้นทะเบียนในระบบสาธารณสุขของจีนอยู่แล้ว และยกระดับเป็นขั้นเป็นตอน ควบกับการรักษาแผนปัจจุบันและแม้กระทั่งการจัดท่า ของคนที่ติดเชื้อลงปอดให้เป็นท่านอนคว่ำก็เป็นกลยุทธ์ที่ประเทศจีนใช้ก่อน
แรงกดดันที่สำคัญอีกประการคือ การใช้วัคซีน เป็นจำนวนมหาศาลในเวลารวดเร็วให้แก่ประชากรมากกว่าที่คิดคือตัวเลข 60% แต่เป็นเกือบทั้งประเทศ ยกเว้นในเด็กซึ่งในระยะแรกข้อมูลความปลอดภัยอาจจะยังไม่พอ 

แต่ในปี 2564 นี้เอง ที่ประเทศจีนใช้วัคซีนที่มีอยู่ดังเดิมที่เป็นเชื้อตายฉีดให้แก่เด็กด้วย การให้วัคซีนอย่างเข้มข้นเช่นนี้ เป็นการปิดโอกาสหรือเปิดโอกาสน้อยที่สุดให้กับไวรัสที่จะมีการแพร่กระจายจากคนสู่คนไปเป็นลูกโซ่และกดดันไม่ให้มีการกลายพันธุ์หรือรหัสพันธุกรรมเพี้ยนจนกระทั่งสามารถตั้งตัวกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
สำหรับในประเทศไทยเอง การสร้างแรงกดดันต่อไวรัสต้องเข้มข้นตลอดเวลาและสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นที่มาของการที่เราต้องการวัคซีนที่ดีที่สุดและสามารถคุมไวรัสที่มีเยอะที่สุดในขณะนี้ ยกตัวอย่างเช่นสายเดลตาและอัลฟา ที่ต้องพูดถึงอัลฟาเพราะแม้แต่ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม เรายังมี ผู้ป่วยอาการหนักอายุตั้งแต่ 40 ถึง 80 ปีที่ติดเชื้อด้วยอัลฟา และดูเหมือนว่ายาฟาวิพิราเวียจนกระทั่งยาฉีดเรมเดซิเวีย เอาไม่อยู่หรือแทบเอาไม่อยู่
การฉีดวัคซีนที่ว่าต้องครอบคลุม ทำให้ได้ถึง 80 ถึง 90% ของประชาชนในระยะเวลาเร็วที่สุดภายในสามเดือน 
โดยที่ในเด็กเล็กอายุตั้งแต่สองขวบจนกระทั่งถึง 15 ปีสามารถใช้วัคซีนเชื้อตายอย่างที่ประเทศจีนได้นำมาใช้โดยแม้ว่าจะกันการติดของเดลตาไม่ดีเท่ากับวัคซีนอื่นแต่สามารถลดอาการหนักหรือเสียชีวิตได้ และประเทศจีนกำลังนำวัคซีนคู่แฝดไฟเซอร์ เข้ามาเสริมป้องกัน เดลต้า และการพัฒนา วัคซีนโปรตีนย่อยแบบโนวาแวคซ์ แต่แทนที่จะผลิตในระบบเซลล์แมลงหรือใบพืชแบบของใบยาจะผลิตในเซลล์เพาะเลี้ยงแทน รวมถึงวัคซีนอีกหลายเทคนิค

การรุกหนักอย่างเข้มข้นรวดเร็วจะกันไม่ให้มีการกลายพันธุ์ภายในพื้นที่เหมือนกับสายพันธุ์เอปซิลอน ในสหรัฐที่ถือกำเนิดในพื้นที่เอง ไม่มีการนำเข้า และที่แพร่ไปหลาย สิบประเทศแล้วจนกระทั่งถึงปากีสถาน และแน่นอนไม่ช้าไม่นานคงจะเข้าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกระทั่งถึงประเทศไทย
(และดาหน้ามาอีกมหาศาล เดลต้าพลัส เป็นต้น)

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 4 สิงหาคม 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า 
มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 20,200 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,013 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 187 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 643,522 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 188 ราย หายป่วยเพิ่ม 17,975 ราย กำลังรักษา 211,076 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 425,380 ราย