หมออนุตตรแนะเร่งตรวจโควิดด้วย AKT ชี้พบผลบวกรักษาทันทีไม่ต้องรอผล RT-PCR

03 ส.ค. 2564 | 16:21 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2564 | 23:20 น.

หมออนุตตรแนะเร่งตรวจโควิดด้วย AKT ชี้พบผลบวกรักษาทันทีไม่ต้องรอผล RT-PCR พร้อมเร่งการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรัง

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า    
จัดทำรูปจากข้อมูลในเวปไซต์ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข https://ddc.moph.go.th/covid19-dashboard/  มาจัดทำเป็นกราฟ 
รูปแรกแสดงแนวโน้มผู้ป่วยโควิด 19 รักษาอยู่ ใน รพ. และ รพ.สนาม

แนวโน้มผู้ป่วยโควิดรักษาอยู่ใน รพ.-รพ.สนาม
รูปที่ 2 แสดงแนวโน้มผู้ป่วยโควิด 19 อาการหนัก ใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิต ระหว่างวันที่ 24 เม.ย. – 3 ส.ค.2564 ไม่อธิบายตัวเลข ดูจากรูปน่าจะเข้าใจถึงภาระงานของระบบการรักษาพยาบาลที่หนักหนาสาหัสอยู่ในตอนนี้

แนวโน้มผู้ป่วยโควิดอาการหนัก
วันนี้เป็นวันแรกที่จำนวนผู้ป่วยใหม่ (18,901) ใกล้เคียงกับจำนวนผู้รักษาหาย (18,590) ห่างกันเป็นหลักร้อย ลดลงจากที่ผ่านมาที่เห็นหลักหลายพันมาตลอด  
การให้ผู้ป่วยกลับบ้านเร็วขึ้น และกลับไปทำ Home isolation ต่อหลังจากอาการดีขึ้น คงต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยที่จะกลับบ้านเมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับ เพื่อเปิดเตียงว่างรับผู้ป่วยใหม่ได้เพิ่มขึ้น

การลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ยังมีความสำคัญมาก ตอนนี้เชื้อสายพันธุ์เดลตาระบาดได้ง่ายมาก ผู้ป่วยโควิด 19 ไม่รู้ตัวว่าติดจากที่ใดเป็นจำนวนมาก จึงต้องใช้แนวคิดว่าทุกคนมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อมาให้กับเรา แม้ว่าเขาไม่มีอาการอะไร ถ้าไม่จำเป็นก็ควรอยู่บ้านเป็นหลัก เว้นระยะห่างแม้อยู่ในบ้าน ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเสมอ ถ้าไปในที่ผู้คนแออัดใส่แผ่นใสกันหน้า (face shield) ร่วมด้วยยิ่งดี  แล้วยังต้องคิดเสมอว่าพื้นผิวหรือสิ่งของที่สัมผัสอาจมีเชื้อโรคติดอยู่ ทุกครั้งที่สัมผัสจึงต้องล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เสมอ โดยเฉพาะก่อนใช้มือสัมผัสใบหน้าก็ต้องล้างมือก่อนทุกครั้ง
ถึงจะเห็นว่าผู้ป่วยใน รพ.จะเริ่มคงที่ ซึ่งน่าจะเกิดจากการมีระบบการกักตัวที่บ้านและชุมชน (Home isolation และ Community isolation) มากขึ้น  แต่จำนวนผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คงต้องพยายามให้มีการคัดกรองได้เร็วขึ้นด้วย ATK และรีบให้การรักษาเมื่อได้ผลบวกโดยไม่ต้องรอผล RT-PCR และที่สำคัญคือต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรัง เพื่อช่วยลดอาการรุนแรง ลดระยะเวลานอน รพ.ในกลุ่มนี้ และลดอัตราการเสียชีวิตด้วย
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)วันที่ 3 สิงหาคม 63 จากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า 
ติดเชื้อเพิ่ม 18,901 ราย
ติดเชื้อในระบบ 15,176 ราย
ตรวจเชิงรุก 2975 ราย
ในสถานกักตัว 7 ราย
ในเรือนจำ 743 ราย

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย

ติดเชื้อเข้าข่าย/ATK  2470 ราย
สะสมระลอกที่สาม 623,322 ราย
สะสมทั้งหมด 652,185 ราย
รักษาตัวอยู่ 209,039 ราย
โรงพยาบาลหลัก 72,728 ราย
โรงพยาบาลสนาม 136,311 ราย
อาการหนัก 4893 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 1046 ราย
รักษาหาย 18,590 ราย
สะสม 438,050 ราย
เสียชีวิต 147 ราย
สะสมระลอกที่สาม 5222 ราย
สะสมทั้งหมด 5315 ราย
ฉีดวัคซีนสะสม 17.861 ล้านเข็ม
เข็มที่หนึ่ง 13.759 ล้านเข็ม
เข็มที่สอง 4.102 ล้านเข็ม
ฉีดเพิ่มวันนี้ 270,813 เข็ม