วัคซีน "Pfizer"-"Moderna" ขึ้นราคา 13-25% หมอเฉลิมชัยแนะเร่งพัฒนาของตนเอง

03 ส.ค. 2564 | 08:56 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2564 | 20:09 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลวัคซีน Pfizer และ Moderna ขึ้นราคา 13-25% ให้กับสหภาพยุโรป แนะไทยเร่งพัฒนาวัคซีนเป็นของตนเองลดการเป็นเบี้ยล่างบริษัทต่างชาติ

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
บริษัท Pfizer และ Moderna ขึ้นราคาวัคซีน 13-25% ในการตกลงซื้อขายกับสหภาพยุโรปครั้งล่าสุด
จากสถานการณ์โควิดระบาดทั่วโลกกว่า 200 ประเทศ มีผู้ติดเชื้อเกือบ 200 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 4 ล้านคนแล้วนั้น ทำให้แต่ละประเทศ ต้องเร่งจัดหาวัคซีน เพื่อฉีดให้กับประชาชนของตนเองเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความที่เป็นวัคซีนใหม่ ผลิตได้น้อย จึงทำให้มีความต้องการของตลาดสูงมาก
บริษัทที่ผลิตวัคซีน จึงมีอำนาจในการต่อรองสูงมาก ในการทำสัญญาซื้อขายกับประเทศต่างๆ ประเทศผู้ซื้อต้องยอมในเงื่อนไขต่างๆ เช่น ราคาที่อาจจะต้องแพงกว่าราคาตลาด การจัดส่งถ้าไม่ตรงเวลาบริษัทก็จะไม่ต้องเสียค่าปรับ และที่สำคัญบริษัทวัคซีนจะไม่รับผิดชอบต่อผลข้างเคียงระยะยาวที่เกิดจากการฉีดวัคซีนด้วย

เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบ mRNA สามารถผลิตได้ครั้งละเป็นจำนวนมากนับ 1,000 ล้านเข็ม ทำให้ต้นทุนการผลิตของวัคซีนประเภทนี้ค่อนข้างจะต่ำ และมีกำไรส่วนต่างมากพอสมควร แต่เมื่อตลาดเป็นของผู้ขาย แม้ต้นทุนจะต่ำเพียงใด บริษัทก็สามารถกำหนดราคาขายได้ตามอำเภอใจ

ไฟเซอร์-โมเดอร์นาปรับขึ้นราคา
เงื่อนไขในการขึ้นราคาครั้งล่าสุดทางบริษัท Pfizer ได้ปรับราคาขายให้กับสหภาพยุโรป ขึ้นไปอีก 25% จาก 600 บาท เป็น 760 บาท
ในขณะที่ Moderna ก็ปรับราคาขายเพิ่มเช่นกัน โดยขึ้น 13% จาก 740 บาท เป็น 840 บาท
เนื่องจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปพยายามหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนไวรัสเป็นพาหะ และต้องการวัคซีนเทคโนโลยี mRNA ไปฉีดกระตุ้นเข็มสาม จึงทำให้เกิดความต้องการสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้บริษัททั้งสองสามารถกำหนดราคาเพิ่มขึ้นได้

โดยผู้บริหารของบริษัท Pfizer ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดต่างๆในการขายวัคซีนครั้งนี้ การที่ประเทศไทยกำลังวิจัยพัฒนาวัคซีนเทคโนโลยี mRNA อยู่ที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็น เป็นอย่างยิ่ง ที่ไทยควรจะพัฒนาจนมีวัคซีนเป็นของตนเอง จะได้ไม่ตกเป็นเบี้ยล่างให้กับบริษัทวัคซีนต่างชาติ มากำหนดราคาตามอำเภอใจ
โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนไปแล้วกว่า 300 ล้านบาทในช่วงการทดลองในสัตว์และทดลองในมนุษย์เฟสหนึ่ง ยังจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณอีก 1-2000 ล้านบาท ในการวิจัยพัฒนาเฟสสองและสามให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นเงินไม่มาก เพราะบริษัท Pfizer และ Moderna ใช้เงินพัฒนานับหลายหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 28 ก.พ.-1 ส.ค. 64 จากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีการฉีดสะสมจำนวน 17,866,526 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 13,955,087 ราย และฉีดครบ 2 เข็มแล้วจำนวน 3,911,439 ราย