วิเคราะห์ผลการล็อกดาวน์แต่ละระดับ หมอเฉลิมชัยแนะยกระดับขั้นสูงสุด

02 ส.ค. 2564 | 09:52 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2564 | 01:15 น.
527

หมอเฉลิมชัยวิเคราะห์ผลการล็อกดาวน์แต่ละระดับ แนะยกระดับขั้นสูงสุดเต็มรูปแบบเฉพาะในเขตพื้นที่สีแดงเข้มในขณะนี้

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
สมเหตุสมผลหรือไม่ สำหรับการคงมาตรการล็อกดาวน์ในระดับเข้มงวด(Strict Lockdown) ต่อไปอีก 14 วัน และขยายเขตสีแดงเข้มเพิ่มขึ้นเป็น 29 จังหวัด
สถานการณ์โควิดระบาดระลอกที่สามของไทย ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564
ได้เดินทางมาครบสี่เดือนเต็ม และกำลังเริ่มต้นเดือนที่ห้าในวันนี้คือ 1 สิงหาคม 2564
ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ประชุมวาระพิเศษในบ่ายวันนี้
และมีมติให้คงระดับการล็อกดาวน์ในระดับที่ 3 คือเข้มงวด (Strict Lockdown) ต่อไปอีก 14 วัน และเพิ่มพื้นที่เขตสีแดงเข้มจาก 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัด
คงต้องพิจารณาหลากหลายปัจจัย หลากหลายมิติ เพื่อประกอบการออกมาตรการล็อกดาวน์ในระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกัน
หนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญ และมีน้ำหนักมาก ก็คือสถิติตัวเลขต่างๆหลายตัวด้วยกัน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลของมติดังกล่าว
ไม่ว่าจะเป็น
1.จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่
2.จำนวนผู้เสียชีวิต
3.จำนวนผู้รักษาตัวในโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม
4.จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก
5.จำนวนผู้ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ

ลองมาพิจารณาโดยการวิเคราะห์เปรียบเทียบดังนี้
1.เปรียบเทียบสถานการณ์เดือนต่อเดือน เรียงกันไปสี่เดือนติดต่อกัน

สถานการณ์โควิดระลอกที่ 3
เดือนแรก : เทียบระหว่าง 
1 เมษายน กับ 1 พฤษภาคม
พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 38,155 ราย
จาก 28,889 เป็น 67,044 ราย
เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 130 ราย
จาก 94 ราย เป็น 224 ราย
เดือนที่สอง : เทียบระหว่าง
1 พฤษภาคม กับ 1 มิถุนายน
ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 94,978 ราย
จาก 67,044 ราย เป็น 162,022 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 845 ราย
จาก 224 ราย เป็น 1069 ราย
เดือนที่สาม : เทียบระหว่าง 
1 มิถุนายน กับ 1 กรกฎาคม
ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 102,812 ราย
จาก 162,022 เป็น 264,834 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 1011 ราย
จาก 1069 ราย เป็น 2080 ราย
เดือนที่สี่ เดือนสุดท้าย เทียบระหว่าง  1 กรกฎาคม กับ 1 สิงหาคม
ผู้ติดเชื้อเพิ่ม 350,480 ราย
จาก 264,834 เป็น 615,314 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 2910 ราย
จาก 2080 ราย เป็น 4990 ราย
สถิติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน ตลอดสี่เดือนที่ผ่านมา

2.เปรียบเทียบหลังจากติดเชื้อไปแล้วหนึ่งเดือน จนถึงปัจจุบัน ระหว่าง 1 พฤษภาคม จนถึง 1 สิงหาคม พบว่า

สถิติระหว่าง 1 พ.ค.-1 ส.ค. 64
ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม            9.18 เท่า
เข้ารับการรักษาตัวเพิ่มขึ้น  7.13 เท่า
รักษาตัวใน รพ.หลักเพิ่ม     3.58 เท่า
รักษาตัวใน รพ.สนามเพิ่ม  16.42 เท่า
ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่ม         5.75 เท่า
ผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่ม  3.87 เท่า
3.ระดับการล็อกดาวน์แบ่งได้เป็น

ระดับการล็อกดาวน์
3.1 ระดับเล็กน้อย (Partially lockdown)
3.2 ระดับปานกลาง (Semi-lockdown)
3.3 ระดับค่อนข้างมาก (Strict lockdown)
3.4 ระดับสูงสุด (Fully lockdown)
โดยการล็อกดาวน์ของประเทศไทยนั้น

การล็อกดาวน์ของประเทศไทย
ระดับเล็กน้อย เริ่มเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564
ระดับปานกลางเริ่ม 12 กรกฎาคม 2564
ระดับค่อนข้างมากเริ่ม 20 กรกฎาคม 2564
ยังไม่ได้มีการประกาศใช้ล็อกดาวน์ระดับสูงสุด ในการระบาดระลอกที่สามนี้
ลองมาดูผลของการล็อกดาวน์ระดับต่างๆ ว่าเมื่อครบ 14 วันแล้ว มีผลเป็นอย่างไรบ้าง

ผลของมาตรการล็อกดาวน์
1.ล็อกดาวน์ระดับ 1 หรือเล็กน้อย
ได้ประกาศใช้เมื่อ 28 มิถุนายน 2564 
ประเมินผล 12 กรกฎาคม 2564 
พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 95,174 ราย
ผู้เสียชีวิตเพิ่ม    857 ราย
2.ล็อกดาวน์ระดับ 2 หรือปานกลาง
ประกาศใช้เมื่อ 12 กรกฎาคม 2564 
ประเมินผล 26 กรกฎาคม 2564 
มีติดเชื้อเพิ่ม  167,349 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม   1355  ราย
3.ล็อกดาวน์ระดับ 3 หรือเข้มงวด
ประกาศใช้ 20 กรกฎาคม 2564 
ประเมินผล 1 สิงหาคม 2564 
มีติดเชื้อเพิ่ม  188,839 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม   1488 ราย
จากสถิติดังกล่าวทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การประกาศล็อกดาวน์ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับที่หนึ่งเล็กน้อย มาสู่ระดับที่สองปานกลาง และระดับที่สามเข้มงวด ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ยังไม่สามารถจะคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตเอาไว้ได้ อย่างเป็นที่น่าพอใจ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจะเริ่มลดลงบ้างแล้วก็ตาม
หากแต่ไปเพิ่มมากขึ้นในต่างจังหวัด ทำให้ค่าเฉลี่ยของประเทศยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง
การใช้มาตรการล็อกดาวน์ในระดับที่สาม หรือค่อนข้างมากในปัจจุบัน  จึงมีความหวังไม่สูงนัก ที่จะควบคุมการระบาดเอาไว้ได้
นอกจากจะสามารถเร่งระดมฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วภายในหนึ่งเดือน ซึ่งก็เป็นไปได้ยากมาก
ถ้าการเร่งระดมฉีดวัคซีน ต้องใช้เวลาอีกมากกว่า 3 เดือน
ในช่วงระหว่าง 3 เดือนนี้ การยกระดับการล็อกดาวน์จากระดับที่สามคือค่อนข้างมาก ไปเป็นระดับที่สี่คือระดับสูงสุด เฉพาะในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม อาจมีความจำเป็น เพื่อชลอหรือทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงมาสู่ระดับที่ระบบสุขภาพ จะสามารถดูแลผู้ที่ไม่สมควรจะเสียชีวิต ไม่ให้ต้องเสียชีวิตได้สำเร็จ เพราะผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว เราไม่สามารถจะนำกลับคืนมาได้ เมื่อโรคระบาดผ่านไปแล้ว แต่ระบบเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก จะสามารถกลับมาฟื้นฟูกันได้อีก เมื่อโรคระบาดผ่านไปแล้ว
การล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ (Fully Lockdown) เฉพาะในเขตพื้นที่สีแดงเข้มในขณะนี้ แม้จะไม่สามารถทำให้การระบาดยุติลงได้ (เนื่องจากเลยเวลาที่เหมาะสมไปแล้ว) แต่ทำไปเพื่อเป็นการรอผลของวัคซีนที่จะเห็นผลในอีก 3-5 เดือนข้างหน้า
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 2 กรกฎาคม 64 "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามการายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า
มียอดผู้ติดเพิ่มขึ้นรวม 17,970 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,795 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 175 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 604,421 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 178 ราย หายป่วยเพิ่ม 13,919 ราย กำลังรักษา 208,875 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 391,875 ราย