"ล็อกดาวน์"ไม่ช่วยอะไร หมอเฉลิมชัยชี้ยังติดเชื้อโควิด-ตายเพิ่มขึ้น

27 ก.ค. 2564 | 09:48 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2564 | 18:48 น.
777

หมอเฉลิมชัยเผยมาตรการกึ่งล็อกดาวน์และล็กดาวน์เข้มงวดยังไม่สามารถคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ ระบุยังพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เสนอใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มงวดสูงสุดต่อไป

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ (Semi-lockdown) และมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวด (Strict lockdown) ยังไม่สามารถคุมการระบาดของโควิดได้
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งดำเนินต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหนึ่งปีเจ็ดเดือน โดยเริ่มต้น 31 ธันวาคม 2562 ถึงปัจจุบัน 26 กรกฎาคม 2564
มีผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 200 ล้านคน เสียชีวิตไปมากกว่า 4 ล้านคน ในกว่า 200 ประเทศทั่วโลกนั้น นำมาซึ่งความตระหนกและความกังวลของรัฐบาลทุกประเทศว่า จะต้องบริหารจัดการควบคุมการระบาดของโรคนี้อย่างไร
เนื่องจากเป็นโรคใหม่ ซึ่งมนุษย์ไม่เคยรู้จักมาก่อน  เพื่อที่จะทำให้
1.คุมการระบาดได้รวดเร็วที่สุด มีจำนวนผู้ติดเชื้อ  ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตน้อย
2.ดูแลสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมให้ได้รับผลกระทบทางลบน้อยที่สุด
ทุกประเทศก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกันว่า มาตรการเข้มงวด หรือเรียกว่ามาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ (Fully lockdown) เป็นมาตรการที่ได้ผลดีและรวดเร็วที่สุดในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 แต่ก็ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมด้วยเช่นกัน
คำถามสำคัญคือ
1.เมื่อใด เราจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเข้มงวดแบบล็อกดาวน์
2.เมื่อใด ถึงจะสามารถผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว โดยที่โรคไม่กลับมาระบาดเพิ่มขึ้นอีก
ด้วยความวิตกกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ ทั้งที่เคยและไม่เคยล็อกดาวน์มาก่อน จึงมักจะตัดสินใจประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นเสมอ

การประเมินมาตรการต่างๆ ที่อ่อนกว่ามาตรการล็อกดาวน์  จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ จะใช้ตัดสินใจล็อกดาวน์แบบเหมาะสมคือ ไม่ประกาศใช้เร็วเกินไป โดยไม่จำเป็น และก็ไม่ล่าช้าเกินไป จนเกิดความเสียหายอย่างมาก เรามักจะประเมินผลของมาตรการต่างๆที่ 14 วันหลังประกาศใช้ เพื่อที่ให้ครบรอบระยะฟักตัวของไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิดเสียก่อน ซึ่งมีผลที่ค่อนข้างแม่นยำกับไวรัสสายพันธุ์เดิม แต่สำหรับไวรัสสายพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์เดลตาหรืออินเดีย ซึ่งมีจำนวนไวรัสในผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดอาการเร็ว และมีระยะฟักตัวสั้นลงนั้น อาจจำเป็นต้องปรับช่วงระยะเวลาที่จะใช้ประเมินผลของมาตรการ ให้สั้นลงกว่า 14 วัน ที่เคยใช้กับไวรัสสายพันธุ์เดิม
โควิดระบาดระลอกที่สามของประเทศไทย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 นั้น รัฐบาลได้ทยอยประกาศมาตรการต่างๆที่เข้มข้นขึ้นเป็นลำดับเรื่อยมา เพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาด ซึ่งเคยใช้ได้ผลดีในการระบาดระลอกที่สอง แต่ด้วยการระบาดระลอกที่สาม เป็นไวรัสกลายพันธุ์ เริ่มต้นด้วยสายพันธุ์อัลฟา แล้วตามด้วยสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาด ที่กว้างขวางและรวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิมมาก ทำให้มาตรการที่ประกาศ และเคยใช้ได้ผลกับการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดิมในระลอกที่สอง กลับได้ผลไม่ดีนักในระลอกที่สามนี้
เราจะลองมาประเมินการประกาศใช้มาตรการต่างๆสามครั้งหลังสุด ดูว่าสามารถควบคุมการระบาดของโรคไว้ได้มากน้อยเพียงใด
1.มาตรการเข้มข้นบางส่วน (Partially lockdown) เป็นการประกาศกำหนดฉบับที่ 25 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 โดยเราจะมาประเมินผลกันในวันที่ 14 หลังวันประกาศคือ 12 กรกฎาคม 2564  พบสถานการณ์ดังนี้
1.1 จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน เพิ่มขึ้น 3250 ราย หรือ 60.12% ( จาก 5406 รายเป็น 8656 ราย)
1.2 จำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัว เพิ่มขึ้น 44,930 เตียง หรือ 98.43% (จาก 45,648 เตียง เป็น 90,578 เตียง)
1.3 ผู้ป่วยอาการหนัก เพิ่มขึ้น 1089 เตียง หรือ 60.30% (จาก 1806 เตียงเป็น 2895 เตียง)
1.4 ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพิ่มขึ้น 237 เตียง หรือ 46.47% ( จาก 510 เตียง เป็น 747 เตียง)
พอจะสรุปได้ว่า มาตรการเข้มข้นบางส่วน ในช่วงวันที่ 28 มิถุนายน ถึง 12 กรกฎาคม ไม่สามารถจะควบคุมสถานการณ์การระบาดไว้ได้

ผลการใช้มาตรการฉบับที่ 25 : 28 มิ.ย.64
2.มาตรการเข้มข้นแบบกึ่งล็อกดาวน์(Semi-lockdown) โดยประกาศกำหนดฉบับที่ 27 มีผลตั้งแต่ 12 กรกฎาคม 2564 และประเมินผล 14 วันหลังประกาศคือ 26 กรกฎาคม 2564 ได้ผลดังนี้
2.1 ผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่ม 6720 ราย หรือ 78% (จาก 8656 ราย เป็น 15,376 ราย)
2.2 ผู้ป่วยต้องรับการรักษา เพิ่ม 76,479 เตียง หรือ 84.43% (จาก 90,578 เป็น 167,057 เตียง)
2.3 ผู้ป่วยอาการหนัก เพิ่มขึ้น 1394 เตียง หรือ 48.50% (จาก 2895 เป็น 4289 เตียง)
2.4 ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ เพิ่มขึ้น 220 เตียง หรือ 29.45% ( จาก 747 เป็น 967 เตียง) 
พอจะสรุปได้ว่า มาตรการเข้มข้นแบบกึ่งล็อกดาวน์ ก็ยังไม่สามารถคุมสถานการณ์โควิดไว้ได้เช่นเดียวกัน

ผลการใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ 12 ก.ค.64
3.มาตรการเข้มงวด (Strict lockdown) โดยประกาศกำหนดฉบับที่ 28 เริ่มมีผล 20 กรกฎาคม 2564 (ยังไม่ครบ 14 วันของการประเมิน)
3.1 ผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่ม 4071 ราย หรือ 36.01% (จาก 11,305  เป็น 15,376 ราย)
3.2 ผู้ป่วยต้องรับการรักษา เพิ่ม 40,292 เตียง หรือ 31.78% (จาก 126,765 เป็น 167,057 เตียง)
3.3 ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่ม 578 เตียงหรือ 15.58% (จาก 3711 เป็น 4289 เตียง)
3.4 ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่ม 82 เตียง หรือ 9.27% (จาก 885 เป็น 967 เตียง)
สรุปได้ว่า ที่ครึ่งระยะทางของระยะฟักตัว(7วัน) มาตรการเข้มงวดก็ไม่สามารถจะคุมการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่สามไว้ได้

ผลการใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวด 20 ก.ค.64
เมื่อดูการเสียชีวิต
1.ช่วงก่อนมีการประกาศ Partially lockdown คือ 14 ถึง 28 มิถุนายน 2564 มีผู้เสียชีวิตเพิ่มวันละ 33.43 ราย
2.ช่วงประกาศ Partially lockdown 28 มิถุนายนถึง 12 กรกฎาคม มีผู้เสียชีวิตเพิ่มวันละ 61.21 ราย
3.ช่วงประกาศ Semi-lockdown 12 ถึง 26 กรกฎาคม เสียชีวิตเพิ่มวันละ 96.79 ราย
4.ช่วงประกาศ Strict lockdown 20 ถึง 26 กรกฎาคม เสียชีวิตเพิ่มวันละ 107.33 ราย

จากตัวเลขสถิติดังกล่าวที่ทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ มีเหตุปัจจัยหลักเกิดจากไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดได้กว้างขวางและรวดเร็วขึ้นมาก ทำให้มาตรการต่างๆที่ประกาศเป็นลำดับ ยังไม่สามารถจะคุมการระบาดเอาไว้ได้ คงจะถึงเวลา ที่จะต้องพิจารณาอย่างจริงจัง ในการใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มงวดสูงสุดต่อไป
โดยที่ประเทศใดก็ตาม ที่จะประกาศล็อกดาวน์แบบเข้มงวดสูงสุด จะต้องเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบหรือการเยียวยาประชาชน ให้พออยู่ได้ในช่วงที่มีการประกาศล็อกดาวน์ ซึ่งจะกระทบภาวะเศรษฐกิจและทางสังคมอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตามพื้นที่กรุงเทพมหานคร อาจหลีกเลี่ยงหรือชะลอการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบได้ ถ้าสามารถระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนครบสองเข็มได้จำนวน 70% ของประชากรทั้งหมด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์เดลต้า แต่แนวทางนี้ก็ยังค่อนข้างห่างไกล เพราะขณะนี้กรุงเทพมหานครฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งได้ 52.6%  และเข็มสองได้เพียง 12.5%
ส่วนค่าเฉลี่ยในเขตกรุงเทพและปริมณฑลเข็มหนึ่งฉีดได้ 38.7% เข็มสอง 9.7%
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมข้อมูลจากการรายงานของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 14,150 ราย
ติดเชื้อในระบบ 10,407 ราย
ติดเชื้อตรวจเชิงรุก 3459 ราย
 ติดเชื้อในเรือนจำ 245 ราย
ติดเชื้อในสถานกักตัวตัว 39 ราย
สะสมละลอกที่สาม 497,965 ราย
สะสมทั้งหมด 526,828 ราย

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19
รักษาในโรงพยาบาล 171,921 ราย
โรงพยาบาลหลัก 69,567 ราย
โรงพยาบาลสนาม 102,354 ราย
อาการหนัก 4284 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 954 ราย
กลับบ้านได้ 9168 ราย
สะสม 350,862 ราย
เสียชีวิต 118 ราย
สะสมระลอกที่สาม 4170 ราย
สะสมทั้งหมด 4264 ราย
ฉีดวัคซีนสะสม 16.169 ล้านเข็ม
เข็มที่หนึ่ง 12.374 ล้านเข็ม
เข็มที่สอง 3.799 ล้านเข็ม