"Antigen Test Kit"หมอเฉลิมชัยชี้ความไว-ความจำเพาะคือสิ่งควรรู้ก่อนใช้

26 ก.ค. 2564 | 10:38 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2564 | 17:37 น.
4.0 k

หมอเฉลิมชัยเผยก่อนใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ควรทำความเข้าใจเรื่องความไวและความจำเพาะ ชี้ในทางอุดมคติย่อมอยากจะได้ชุดทดสอบที่มีทั้งความไวและความจำเพาะสูง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงจะไม่ใช่

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
การตรวจหาโควิดด้วยตนเองที่บ้านด้วยชุดทดสอบ (ATK : Antigen Test Kit) จะพบคำว่า ความไว และ ความจำเพาะ สองคำนี้แตกต่างกันอย่างไร อะไรดีกว่าอะไร
หลังจากที่สถานการณ์โควิดระบาดระลอกสาม ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ประชาชนที่มีความต้องการจะตรวจว่า ตนเองมีเชื้อไวรัสหรือไม่ เนื่องจากมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะสัมผัสเสี่ยงต่ำหรือเสี่ยงสูงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนเกินศักยภาพการตรวจด้วยวิธีมาตรฐานแบบ RT-PCR รัฐบาลจึงประกาศให้ประชาชนสามารถซื้อหาชุดทดสอบโควิดด้วยตนเองที่บ้าน (ATK) จากสถานพยาบาล คลินิก หรือร้านขายยาแผนปัจจุบันมาตรวจด้วยตนเองได้
จึงเกิดความสนใจในรายละเอียดของชุดทดสอบหลายประการ อาทิเช่น
1.จะซื้อแบบเก็บตัวอย่างด้วยการแยงจมูกเพื่อเก็บสารคัดหลั่ง หรือเก็บตัวอย่างด้วยการบ้วนน้ำลายมาตรวจหาไวรัสดี
2.เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง ด้วยวิธีการแยงจมูก แบบแยงลึกกับแยงตื้น จะมีความแม่นยำแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร
3.จะซื้อชุดทดสอบของบริษัทไหนดี
4.จะต้องตรวจดูอะไรบ้างที่ผลิตภัณฑ์ เช่น เลขทะเบียน อย. วันผลิต-วันหมดอายุ ประเทศที่ผลิต
5.ต้องดูคุณภาพของชุดทดสอบโดยดูความไว และความจำเพาะ ประกอบด้วย แล้วสองตัวนี้ต่างกันอย่างไร

วันนี้จะมาทำความเข้าใจกับสองคำสำคัญคือ ความไว (Sensitivity) กับความจำเพาะ (Specificity) ว่า คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร และอันไหนมีความสำคัญมากน้อยกว่ากัน ในประเด็นใดบ้าง (หมายเหตุ : จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแปลงค่าสถิติต่างๆ รวมทั้งคำพูดที่ยุ่งยากสำหรับคนทั่วไป คนไม่เก่งเลข หรือคนเกลียดสถิติให้เข้าใจง่าย  ผู้ชำนาญเรื่องสถิติทั้งหลาย จึงอย่าเพิ่งเบื่อ หรือรู้สึกว่าไม่ 100 %)
ความไวภาษาอังกฤษเรียกว่า Sensitivity หรือ True positive rate คือ สัดส่วนเป็นร้อยละของผู้ติดเชื้อจริง เมื่อทดสอบด้วยชุดทดสอบแล้วให้ผลเป็นบวก ต่อจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด เช่น

ความไว 90% แปลว่า ผู้ติดเชื้อจริง 100 คน ตรวจด้วยชุดทดสอบนี้ได้ผลบวกมากถึง 90 คน ได้ผลลบเพียง 10 คน
ความจำเพาะเรียกว่า Specificity หรือ True negative rate คือ สัดส่วนเป็นร้อยละของผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อ เมื่อมาทดสอบด้วยชุดทดสอบแล้ว ให้ผลเป็นลบ เช่น ความจำเพาะ 90% แปลว่า ผู้ที่ไม่ติดเชื้อ 100 คน เมื่อตรวจด้วยชุดทดสอบแล้ว จะได้ผลเป็นลบมากถึง  90 คน และได้ผลเป็นบวกเพียง 10 คน

ชุดตรวจ Antigen Test Kit
ความไวสูง คือ ตรวจพบเป็นบวกได้มาก แต่อาจมีความจำเพาะต่ำ คือได้คนที่ไม่ได้ติดเชื้อจริงเข้ามาร่วมด้วย และกลับกัน ชุดทดสอบที่มีความจำเพาะสูง แต่อาจจะมีความไวต่ำ คือมีคนที่ติดเชื้อจริงบางคนตรวจหาไม่พบ
ในทางอุดมคติ เราย่อมอยากจะได้ชุดทดสอบที่มีทั้งความไวและความจำเพาะสูง ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงจะไม่เป็นอย่างนั้น จึงต้องได้ความไวที่สูงพอสมควร และความจำเพาะพอสมควร
ในการจัดหาซื้อชุดทดสอบ ควรได้ค่าทั้งสองเกินกว่า 90% ในชุดทดสอบที่มีความไวสูง จะไม่พลาดผู้ที่ติดเชื้อจริงแต่มีปริมาณไวรัสน้อย หรือมีอาการน้อย แต่จะมีข้อด้อยคือ มีโอกาสที่จะพบผลบวกลวง จึงเกิดความกังวลและไปเป็นภาระในการต้องตรวจยืนยันด้วย RT-PCR
ส่วนชุดทดสอบที่มีความจำเพาะสูง ก็จะมีภาระต่อการต้องไปตรวจ RT-PCR น้อยลง แต่อาจตรวจผู้ติดเชื้อที่มีปริมาณไวรัสน้อยหรือมีอาการน้อยไม่พบ ทำให้เกิดการแพร่ของโรคต่อไปได้
ผู้ที่จะเลือกซื้อหาชุดทดสอบดังกล่าว จึงควรมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องความไว และความจำเพาะดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 26 กรกฏาคม 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า

ติดเชื้อเพิ่ม                   15,376 ราย
ติดเชื้อในระบบ            11,064 ราย
ติดจากตรวจเชิงรุก       3257 ราย
ติดเชื้อในเรือนจำ         1041 ราย
ติดเชื้อในสถานกักตัว   14 ราย
สะสมระลอกที่สาม   483,815 ราย
สะสมทั้งหมด           512,376 ราย
รักษาตัวอยู่                 167,057 ราย
โรงพยาบาลหลัก        96,038 ราย
โรงพยาบาลสนาม.     71,019 ราย
อาการหนัก                 4289 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ   967 ราย
รักษาหายกลับบ้านได้ 6782 ราย
สะสม 341,694 ราย

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย
เสียชีวิต 87 ราย
สะสมระลอกที่สาม   4052 ราย
สะสมทั้งหมด           4146 ราย
ฉีดวัคซีนแล้ว   16.031 ล้านเข็ม 
เข็มที่หนึ่ง         12.254 ล้านเข็ม
เข็มที่สอง           3.777 ล้านเข็ม