เปิดแผนจัดวัคซีนถึงเดือนสิงหาคมฉีดเพิ่ม 13 ล้านโดส เฉลี่ยวันละ 2.95 แสนโดส

24 ก.ค. 2564 | 10:50 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2564 | 17:51 น.
2.1 k

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลแผนการจัดวัคซีนถึงเดือนสิงหาคมฉีดเพิ่ม 13 ล้านโดส เฉลี่ยวันละ 2.95 แสนโดส เน้นฉีดผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวเจ็ดกลุ่มโรคเป็นหลัก จับตาไทยหาเพิ่มให้ได้อีก 11.28 ล้านโดสภายในสิ้นปี

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า 
ประกาศแล้ว แผนจัดสรรวัคซีนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2564 ฉีดเพิ่มอีก 13 ล้านโดส เฉลี่ยวันละ 2.95 แสนโดส
ขณะนี้ได้มีการประกาศไทม์ไลน์การฉีดวัคซีนโควิด ในช่วงตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมถึงวันที่ 31 สิงหาคมแล้ว
โดยจะระดมฉีดวัคซีนจำนวน 13 ล้านโดส ภายใน 44 วัน คิดเป็นเฉลี่ยวันละ 2.95 แสนโดส
โดยจะเป็นวัคซีน AstraZeneca 8 ล้านโดส  Sinovac 5 ล้านโดส แบ่งเป็น
1.พื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด (สีแดงเข้ม)  จำนวน 33%
2.พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง)  + ท่องเที่ยว  จำนวน 10%
3.48 จังหวัดที่เหลือ  จำนวน 15%
4.ระบบประกันสังคม จำนวน 15%
5.หน่วยงานของรัฐและสำรองตอบโต้กรณีฉุกเฉิน จำนวน 12%
6.ฉีดเข็มสองให้ผู้ที่ได้เข็มหนึ่งของ AstraZeneca แล้ว จำนวน 12%
7.ฉีดกระตุ้นให้บุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 3%

โดยให้เน้นไปที่ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเจ็ดกลุ่มโรคเป็นหลัก
เมื่อดูจากตัวเลขดังกล่าว จะพบว่า ได้มีการฉีดวัคซีนมาแล้วจนถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 จำนวน 14.22 ล้านโดส
เมื่อรวมกับที่จะฉีดภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้อีก 13 ล้านโดส จึงรวมเป็น 27.22 ล้านโดส
เป้าหมายที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในการฉีดถึงสิ้นปีนี้ ธันวาคม 2564 คือ 100 ล้านโดส
จึงจะต้องฉีดเพิ่มอีก 72.78 ล้านโดสในช่วงเวลาที่เหลือตั้งแต่ 1 กันยายนถึง 31 ธันวาคม รวมเวลา 122 วัน คงต้องฉีดให้ได้เฉลี่ย 5.96 แสนโดสต่อวัน
ซึ่งโดยศักยภาพของโรงพยาบาลรัฐ สามารถฉีดวันละ 5-7 แสนโดส จึงไม่ใช่ปัญหาเรื่องความสามารถในการฉีด

แผนจัดสรรวัคซีนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม
แต่น่าจะเป็นประเด็นเรื่อง ปริมาณของวัคซีนที่จะจัดหามาให้ได้ครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้
โดยพบว่า วัคซีนที่จะต้องจัดหามาเพิ่มอีก 72.78 ล้านโดสนั้น ประกอบไปด้วย
1.AstraZeneca 20 ล้านโดส คือเดือนละ 5 ล้านโดส จำนวน 4 เดือน

2.Sinovac  12 ล้านโดส คือ เดือนละ 3 ล้านโดส
3.Pfizer 20 ล้านโดส บวกที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐฯอีก 1.5 ล้านโดส  รวมเป็น 21.5 ล้านโดส
4.Moderna 5 ล้านโดส
5.Sinopharm 2 ล้านโดส
รวมเป็น 61.5 ล้านโดส ยังคงขาดวัคซีนที่จะต้องเร่งจัดหามาภายในสิ้นปีนี้อีก 11.28 ล้านโดส  เฉลี่ยเดือนละ 2.82 ล้านโดส ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายวิธี อาทิเช่น เจรจากับ AstraZeneca ให้จัดสรรวัคซีนเพิ่มให้กับไทย หรือนำเข้าวัคซีน Sinopharm เพิ่มขึ้น หรือนำเข้าวัคซีน johnson & Johnson หรือวัคซีน Sputnik V จากรัสเซีย ตลอดจนวัคซีน Novavax เข้ามาเสริม คงจะต้องรอดูแผน และวิธีการดำเนินการต่อไป
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทย จากการรายงานข้อมูลของ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า วันที่ 28 ก.พ.- 22 ก.ค. 64  มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 15,388,939 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 11,805,180 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,583,759 ราย