"Rapid Test" หมอเฉลิมชัยเตือนการใช้งานเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19

14 ก.ค. 2564 | 14:22 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2564 | 21:24 น.

หมอเฉลิมชัยเผยการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วย Rapid Test เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ชี้ถ้าพบผลบวก ต้องตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำอีกครั้งเสมอ ถ้าพบผลลบต้องตรวจซ้ำในอีก 3 วัน

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ชุดตรวจหาไวรัสก่อโรคโควิดด้วยตนเองที่บ้าน (Antigen test self-test Kits) สามารถซื้อจากร้านขายยาหรือคลินิกเองได้แล้ว คาดว่าจะมีของในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป
จากกรณีการระบาดโควิดระลอกที่สาม ซึ่งมีผู้สัมผัสเสี่ยงและสงสัยว่าตนเองจะติดเชื้อหรือไม่ เป็นจำนวนมากในแต่ละวันนั้น ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการไปตรวจหาเชื้อไวรัสโดยวิธีมาตรฐาน (RT-PCR) เพราะต้องรอคิวนาน เนื่องจากมีจำนวนการตรวจในแต่ละวันได้เพียง 80,000 ตัวอย่าง
ขณะนี้รัฐบาลได้ออกประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เพื่อที่จะทำให้ประชาชนทั่วไป ที่มีประวัติสัมผัสเสี่ยงแต่ไม่มีอาการ  ได้มีโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์การตรวจที่ทดสอบได้ด้วยตนเองที่บ้าน
โดยการประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังกล่าว อ้างอิงกฎหมายพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ 2551 และแก้ไขฉบับที่สอง 2562 มีสาระสำคัญดังนี้
1.มีผลบังคับใช้ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
2.ใช้ชื่อว่า ชุดตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง
3.เป็นการตรวจหาไวรัสก่อโรคด้วยตนเองที่บ้าน เพื่อวินิจฉัยเบื้องต้นว่า ติดเชื้อหรือไม่
4.ถือว่าเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องได้รับอนุญาต

5.ต้องมีการประเมินเทคโนโลยีให้มีคุณภาพ
6.บริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า จะขายให้เฉพาะแก่ สถานพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข อันหมายรวมถึงโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลเฉพาะทาง คลินิกเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ซึ่งจะต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่ได้รับปริญญา
ส่วนประชาชนทั่วไปจะสามารถไปซื้อได้จากสถานที่ดังกล่าว

\"Rapid Test\" หมอเฉลิมชัยเตือนการใช้งานเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19
โดยการดำเนินการดังกล่าว มีสิ่งที่จะต้องพิจารณาดังนี้
1.วิธีมาตรฐาน RT-PCR ทำได้ยากต้องรอผลนาน มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง แต่มีความแม่นยำในการวินิจฉัยการติดเชื้อได้ดี
2.การตรวจด้วยชุดตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (Antigen test self-test kids) ทำได้เร็วกว่า ราคาค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่ผลความแม่นยำจะน้อยกว่า ถ้าพบผลบวก ต้องตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำอีกครั้งเสมอ ถ้าพบผลลบ ก็ยังมั่นใจไม่ได้ ต้องตรวจซ้ำในอีก 3 วันต่อมา และยังต้องระวังอุปกรณ์ ซึ่งใช้ตรวจเสร็จแล้ว อาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้
3.อุปกรณ์ที่มีขายอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่ผลิตมาเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้เก็บสารคัดหลั่ง จึงใช้วิธีการสอดอุปกรณ์เข้าไปในจมูกค่อนข้างลึก เข้าไปถึงโพรงจมูกทางด้านหลัง (Nasopharyngeal swab) ที่เรียกว่าวิธีแยงลึก ซึ่งจะทำให้มีผลการตรวจที่แม่นยำเพราะได้เชื้อไวรัสปริมาณมากพอ

4.ส่วนการตรวจเองที่บ้าน ควรใช้อุปกรณ์ที่แยงตื้นหรือแยงโพรงจมูกด้านหน้า เพราะจะทำให้ประชาชนคนธรรมดาสามารถเก็บตัวอย่างได้ง่าย ทำได้ด้วยตนเอง
แต่ก็จำเป็นที่รัฐจะต้องมีการตรวจรับรองอย่างดีว่า ชุดตรวจทดสอบด้วยวิธีการแยงตื้น หรือแยงจมูกด้านหน้า ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีไวรัสปริมาณน้อยนั้น อุปกรณ์เครื่องมือทดสอบดังกล่าวจะมีความไว (Sensitivity) และความจำเพาะเจาะจง (Specificity) ที่ดี เหมือนอุปกรณ์ทดสอบที่ใช้วิธีแยงลึก หรือเก็บสารคัดหลั่งจากโพรงจมูกทางด้านหลัง เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว จะกลายเป็นว่าผลส่วนใหญ่จะออกมาเป็นผลลบลวงคือ ผลเป็นลบ แต่จริงๆติดเชื้อ เนื่องจากเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง ได้ปริมาณไวรัสน้อยเกินไป
จึงควรเร่งให้บริษัทนำเข้าทั้ง 24 บริษัท นำเข้าชุดการตรวจทดสอบที่เป็นการแยงตื้น หรือแยงจากโพรงจมูกด้านหน้า ซึ่งจะต้องมีเทคโนโลยีที่สูงกว่า เพราะถ้าเพียงแต่ปรับจากวิธีการแยงลึกหรือโพรงจมูกด้านหลัง มาเป็นแยงตื้นหรือโพรงจมูกด้านหน้า โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดให้ถูกต้อง อาจจะเกิดการอ่านผลการตรวจว่า เป็นผลลบลวงคือ มีการติดเชื้อแต่อ่านผลเป็นลบ เนื่องจากเก็บปริมาณไวรัสได้ไม่มากพอที่ชุดทดสอบจะอ่านได้
ล่าสุด : ทราบว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ประสานกับบริษัทต่างๆอย่างน้อย 7 บริษัทให้ปรับเปลี่ยน หรือนำเข้าชุดทดสอบด้วยตนเองชนิดแยงตื้น หรือแยงจมูกด้านหน้าแล้ว 
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า 
มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 9,317 ราย
สะสมระลอกที่สาม 334,166 ราย
สะสมทั้งหมด 363,029 ราย
หายป่วยกลับบ้านได้ 5,129 ราย
สะสม 233,158 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 87 ราย
สะสมระลอกที่สาม 2,840 ราย
สะสมทั้งหมด 2,934 ราย