"ยาฟาวิพิราเวียร์" ข่าวดี! ไทยสามารถผลิตสารตั้งต้นได้เองเพื่อรักษาโควิด

14 ก.ค. 2564 | 11:35 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2564 | 02:35 น.
2.4 k

หมอเฉลิมชัยเผยข่าวดีไทยวิจัยสารตั้งต้นในการผลิตยา ฟาวิพิราเวียร์เพื่อช่วยบรรเทาอาการโควิด-19ได้แล้ว คาดจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ภายในเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้ต้นทุนราคายาเหลือเม็ดละ 30-40 บาท

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ข่าวดี  ไทยวิจัยสารตั้งต้นในการผลิตยา ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เพื่อรักษาโควิดได้แล้ว
จากกรณีมีการระบาดของโควิด ซึ่งเริ่มต้นจากเคสแรกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน มีการแพร่ระบาดไปแล้วกว่า 200 ประเทศทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อแล้ว 188 ล้านคน เสียชีวิตมากถึง 4 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 2.16% นั้น
ในส่วนของผู้ติดเชื้อ เราจะเน้นไปที่เรื่องวินัยในการป้องกันตนเอง และการวิจัยพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ในส่วนของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต เราต้องเน้นไปที่ยารักษาโรค จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มียาตัวใดที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการว่าสามารถรักษาโควิด-19 ได้อย่างเฉพาะเจาะจง มีแต่เพียงการพยายามใช้วิธีการ หรือยาต่างๆที่มีอยู่เดิม ลองรักษาดู ซึ่งพอจะได้ผลอยู่บ้างได้แก่
1.นำน้ำเหลืองของผู้ที่หายป่วยแล้ว (Convalescent plasma)มาใช้ พบว่าได้ผลไม่ค่อยดีนัก
2.ยา Remdesivir ซึ่งใช้กับผู้ที่มีอาการรุนแรง
3.ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ใช้กับผู้ที่มีอาการไม่มาก ยังไม่มีอาการปอดอักเสบ
ซึ่งประเทศไทยเราและหลายประเทศก็ได้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นหลักในการรักษา ซึ่งก็ได้ผลดีพอสมควร
ปัญหาคือ ฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่ผลิตมาจากประเทศญี่ปุ่น และไทยต้องสั่งนำเข้า ราคาเม็ดละ 120 บาท ที่สำคัญคือมีความขาดแคลนของยาเป็นอย่างมาก จนช่วงหนึ่งที่ผ่านมา ยาของเราเกือบจะหมดสต๊อก

จึงได้มีการพูดถึงเรื่องที่ไทยควรจะเร่งผลิตยาตัวนี้เอง ก็ประสบปัญหา เรื่องการมีสิทธิบัตรของยา ซึ่งมีบริษัทต่างชาติมายื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยไว้

\"ยาฟาวิพิราเวียร์\" ข่าวดี! ไทยสามารถผลิตสารตั้งต้นได้เองเพื่อรักษาโควิด
แต่ในที่สุดรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ดำเนินการ จนสามารถยุติการขอจดทะเบียนสิทธิบัตรดังกล่าวได้ จึงทำให้ไทยเราสามารถที่จะผลิตยาดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง
จึงมีความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การเภสัชกรรมและบริษัท ปตท. ในการดำเนินการวิจัยพัฒนาสารตั้งต้น เพื่อให้สามารถที่จะผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ขึ้นเอง
ขณะนี้มีข่าวดีว่า เราได้ประสบความสำเร็จ โดยผ่านขั้นตอนต่างๆได้แก่
1.การทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ ( Laboratory scale)
2.การทดสอบเทคโนโลยีในระดับการผลิตเพื่ออุตสาหกรรม ( Industrial scale)
3.การศึกษาศักยภาพในเชิงพาณิชย์  (Feasibility study)
คาดว่าจะสามารถจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ทำให้ราคายาลดลงจากเม็ดละ 120 บาท เหลือเพียงเม็ดละประมาณ 30-40 บาท ที่สำคัญทำให้เกิดความมั่นคงเรื่องยารักษาโควิด ทำให้เราผลิตยาได้เอง ยาจะไม่ขาดแคลนในอนาคต
นอกจากนั้น ก็จะร่วมไปกับการวิจัยพัฒนาของกรมการแพทย์แผนไทย ที่กำลังทำการวิจัยในโรงพยาบาลสนาม โดยใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรซึ่งก็ทราบว่าได้ผลดีเช่นกัน
นอกจากนั้น เราก็ต้องติดตามความคืบหน้าของยารักษาโควิดที่ชื่อ Molnupiravir ซึ่งกำลังทดสอบในเฟสสาม เป็นความหวังเรื่องยาสำหรับรักษาโรค คู่ขนานไปกับวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรค
โดยมีตัวแปรที่สำคัญคือ ไวรัสที่กลายพันธุ์  วินัยของมนุษย์ และมุมมองของผู้บริหารที่คำนึงถึงมิติเศรษฐกิจสังคมค่อนข้างมาก ทำให้ควบคุมการระบาดของโควิดได้ยากลำบากขึ้น

สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า ฟาวิพิราเวียร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ T-705 หรือ Avigan เป็นยาต้านไวรัสที่พัฒนาโดยบริษัทโตยามะเคมิคอลของประเทศญี่ปุ่น มีฤทธิ์ต่อต้านอาร์เอ็นเอไวรัสหลายชนิด ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ได้รับการศึกษาแบบสุ่มในประเทศจีนเพื่อทำการทดลองรักษาโรค COVID-19 (โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019) ที่พึ่งอุบัติขึ้น 
ฟาวิพิราเวียร์ ได้รับการรับรองระยะสั้นเป็นเวลาห้าปี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ในฐานะยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพต่อต้านโรค และในตอนนี้ได้ผลิตในประเทศจีนภายใต้ชื่อ ฟาวิลาเวียร์ (Favilavir) เช่นเดียวกับยาต้านไวรัสทดลองอื่น ๆ (T-1105 และ T-1106) ฟาวิพิราเวียร์เป็นอนุพันธ์ของ ไพราซีนคาร์โบซาไมด์ (Pyrazinecarboxamide) 
และยังมีฤทธิ์ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่, ไวรัสเวสต์ไนล์, ไวรัสไข้เหลือง, ไวรัสโรคปากและเท้า รวมถึงเชื้อไวรัสอื่น ๆ ในตระกูลฟลาวิไวรัส (Flaviviruses), อรีนาไวรัส (Arenaviruses), บุนยาไวรัส (Bunyaviruses) และ อัลฟาไวรัส (Alphaviruses) ฤทธิ์ในการต่อต้านเอนเทอโรไวรัส (Enteroviruses)และไวรัสโรคไข้ริฟต์แวลลีย์ ก็แสดงให้เห็นเช่นกัน ฟาวิพิราเวียร์ แสดงประสิทธิภาพอย่างจำกัดต่อไวรัสซิกาในการศึกษาในสัตว์ แต่มีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาต้านไวรัสชนิดอื่นเช่น MK-608 และยังแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพบางอย่างในการต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า  ซึ่งได้ถูกนำมาใช้ในการทดลองในมนุษย์บางคนที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว
กลไกการออกฤทธิ์นั้นเชื่อกันว่าเกี่ยวข้องกับการยับยั้งการคัดเลือกเอนไซม์ อาร์เอ็นเอโพลิเมอเรสที่ขึ้นกับอาร์เอ็นเอของไวรัส (RNA-dependent RNA polymerase)งานวิจัยอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่า ฟาวิพิราเวียร์ ชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในอาร์เอ็นเอที่ทำให้เกิดการตาย ซึ่งผลทำให้ฟีโนไทป์ของไวรัสไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ ฟาวิพิราเวียร์ เป็นโปร-ดรัก (prodrug) ที่ถูกกระบวนการเมตาบอลิซึมเผาผลาญไปเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์คือ Favipiravir-ribofuranosyl-5'-triphosphate (Favipiravir-RTP) มีทั้งที่อยู่ในตำรับที่ให้โดยทางรับประทานและทางหลอดเลือดดำ เอ็นไซม์ Human hypoxanthine guanine phosphoribosyltransferase (HGPRT) เชื่อว่ามีบทบาทสำคัญในกระบวนการกระตุ้นการออกฤทธิ์นี้  ฟาวิพิราเวียร์ ไม่ยับยั้งการสังเคราะห์อาร์เอ็นเอหรือดีเอ็นเอ ในเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและไม่เป็นพิษต่อเซลล์ ในปี พ.ศ. 2557 ฟาวิพิราเวียร์ได้รับการอนุมัติในประเทศญี่ปุ่นสำหรับการสำรองยาต่อต้านการระบาดทั่วของโรคไข้หวัดใหญ่ 
อย่างไรก็ตาม ฟาวิพิราเวียร์ยังไม่ได้แสดงว่ามีประสิทธิภาพในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจปฐมภูมิของมนุษย์ เป็นเหตุให้ยังมีความสงสัยในประสิทธิภาพในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่