สบส.กำหนด5 แนวทาง เอกชนโฆษณาวัคซีนโควิด ป้องปรามโอ้อวดเกินจริง

16 มิ.ย. 2564 | 09:59 น.

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยันไม่ห้ามสถานพยาบาลเอกชนโฆษณาจองวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 แต่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยต้องขออนุมัติโฆษณา พร้อมปฏิบัติตามแนวทางการโฆษณา 5 ข้อ ป้องปรามการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง และคุ้มครองประชาชน



นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบัน การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มีความคืบหน้าไปอย่างมาก โดยภาครัฐก็มีการทยอยให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาคเอกชนบางส่วน ก็ได้แสดงความจำนงที่จะนำเข้าวัคซีนทางเลือก มาให้บริการแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคติดต่ออันตรายนี้ ซึ่งภาครัฐยินดีที่จะให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19  

ด้วยการที่สถานพยาบาลเอกชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเข้ามาให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ย่อมส่งผลดีต่อพี่น้องประชาชนในการรับวัคซีนได้อย่างครอบคลุม และรวดเร็ว แต่เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง และคุ้มครองประชาชนให้ได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ มาตรฐานจากสถานพยาบาลเอกชน ในการโฆษณาหรือประกาศอันเป็นประโยชน์ทางการค้าของสถานพยาบาลจึงต้องขออนุมัติจากผู้อนุญาตเสียก่อน ซึ่งในการโฆษณาจองวัคซีนโควิด 19 นั้น กรม สบส.ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำหนดแนวทางในการโฆษณาเบื้องต้นไว้ 5 ข้อดังนี้ 

1.วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่จะโฆษณาต้องได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยา และได้รับการอนุมัติให้โฆษณายาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 

2.โฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล กรณีการจองวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ต้องยื่นขออนุมัติจากผู้อนุญาต ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 คือ กรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หากได้รับการอนุมัติแล้วจึงสามารถเผยแพร่โฆษณาได้ 

3.หากสถานพยาบาลมีการเรียกเก็บเงินมัดจำ หรือค่าใช้จ่ายใดๆ จากประชาชน หากไม่สามารถดำเนินการตามถ้อยคำที่ปรากฏในโฆษณา จะต้องคืนเงินมัดจำหรือค่าใช้จ่ายใดๆเต็มจำนวน 

4.การกำหนดระยะเวลาในการฉีดวัคซีน ต้องกำหนดระยะเวลาให้ใกล้เคียงที่จะได้รับวัคซีนมาให้บริการจริงมากที่สุด เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนเกิดความคาดหวังเกินจริงกับระยะเวลา และป้องกันมิให้ประชาชนต้องรอคอยเนิ่นนานจนเกินสมควร 

5.ในการโฆษณาทุกครั้งต้องระบุข้อความ “รัฐบาลได้มีการจัดสรรวัคซีนโควิด 19 ให้กับประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย” และ “ส่วนการจองวัคซีนโควิด 19 ของสถานพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนสามารถเลือกรับบริการได้ แต่ต้องชำระค่าใช้จ่ายเอง” เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาตัดสินใจก่อนรับบริการ

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมานั้นการโฆษณาจองวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของสถานพยาบาลเอกชน มิได้มีการขออนุมัติอย่างถูกต้อง กรม สบส.จึงต้องมีคำสั่งให้ระงับการโฆษณา ด้วยเนื้อหาของโฆษณาที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัตินั้นอาจจะมีข้อความที่ไม่ถูกต้อง สร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชน ประกอบกับที่ผ่านมาภาคเอกชนก็ยังไม่มีกำหนดเวลาของวัคซีนที่เข้ามาอย่างชัดเจน และบางครั้งก็มีการเก็บค่ามัดจำ/ค่าจองซึ่งเป็นภาระของภาคประชาชน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความคาดหวังเกินจริงและร้องเรียนภายหลังได้ 

กรม สบส.จึงขอกำชับให้สถานพยาบาลเอกชนที่ต้องการโฆษณาหรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ยื่นคำขออนุมัติโฆษณาหรือประกาศให้ถูกต้องทุกครั้ง โดยโฆษณาหรือประกาศฯ ที่ผ่านการอนุมัติแล้ว ย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้รับบริการ ช่วยลดปัญหาการฟ้องร้อง และป้องกันการถูกดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ อีกทั้ง เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันด้านธุรกิจสถานพยาบาล ที่กำหนดให้การโฆษณาหรือประกาศฯ จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน หากสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดมีข้อคำถาม หรือต้องการคำแนะนำในการขออนุมัติโฆษณาหรือประกาศของสถานพยาบาล ก็สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่กองกฎหมาย กรม สบส.ผ่านสายด่วน 1426 หรือสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ ในวันและเวลาราชการ