มหิดล พัฒนาระบบออนไลน์เพิ่มทักษะผู้สอน-เรียน

05 พ.ค. 2563 | 10:11 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2563 | 17:31 น.

มหิดล พลิกวิกฤต Covid-19 สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบการศึกษา พัฒนาครูสู่ Coach ทำหน้าที่กระตุ้นผู้เรียนตั้งคำถาม ค้นคว้า พัฒนาทักษะและทัศนคติ ดึงโซเชี่ยลมีเดีย เป็นสื่อการเรียนการสอน แนะแนวการศึกษา และประชุมทางไกล

รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากวิกฤต Covid-19 สำหรับนักเรียนนักศึกษาถือเป็นโอกาสฝึกการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยผู้เรียนจะต้องมีความใฝ่รู้ และมีวินัยในตัวเองเป็นสำคัญ ซึ่งการขยันหมั่นเพียรสะสมความรู้ทีละเล็กทีละน้อย แต่สม่ำเสมอ จะทำให้การเรียนรู้ได้ผลดี

มหิดล พัฒนาระบบออนไลน์เพิ่มทักษะผู้สอน-เรียน

สำหรับอาจารย์ผู้สอนถือเป็นโอกาสของการฝึกทำบทเรียนออนไลน์และ VDO Conference เพื่อการจัดการความรู้ (Knowledge Management) โดยบทบาทหน้าที่ของอาจารย์ผู้สอนจะต้องปรับเปลี่ยนจาก Teacher ไปเป็น Coach ที่คอยกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักการตั้งคำถามโดยใช้ทั้งพุทธิวิสัย (Knowledge) ทักษะวิสัย (Skills) และจิตพิสัย(Attitude) ในการสอนมากกว่าจะเป็นเพียงผู้ที่ทำหน้าที่สอนแต่เพียงอย่างเดียว

เช่นเดียวกับที่ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ที่ได้มีการนำเอา social media มาใช้ในการแนะแนวการศึกษา และใช้ระบบการประชุมทางไกลในการนำเสนอผลงานของนักศึกษาปริญญาตรีในปีสุดท้ายก่อนการสำเร็จการศึกษา ซึ่งเป็นการตอบสนองเชิงรุกต่อPhysical Distancing ในช่วงวิกฤต Covid-19

อาจารย์ ดร.อำนาจ เจรีรัตน์ ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตกาญจนบุรี ด้านวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ที่จะถึงนี้ จะเป็นครั้งแรกที่ทางวิทยาเขตฯ จะจัดกิจกรรม "แนะแนวทาง Admission 2 ..เลือกในสิ่งที่ชอบ เป็นในสิ่งที่ใช่" โดยถ่ายทอดผ่านทาง Facebook : Mahidol University Kanchanaburi Campus 

มหิดล พัฒนาระบบออนไลน์เพิ่มทักษะผู้สอน-เรียน

"เราใช้ social media ในการที่จะปรับตัวให้เข้ากับการรับนักศึกษาเนื่องจากเราไม่สามารถเดินทางไปแนะแนวการศึกษาตามโรงเรียนต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งในปีการศึกษา 2564 นอกจากหลักสูตรวิทยาศาสตร์การเกษตร​ เทคโนโลยีการอาหาร​ ธรณีศาสตร์​ บัญชี​ บริหารธุรกิจ​ และยังมี 2 หลักสูตรที่เปิดเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (ชีววิทยาเชิงอนุรักษ์)​ ที่เรียนเกี่ยวกับสำรวจ วิเคราะห์ วางแผนการจัดการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน​ ประสานงานกับองค์กรวิชาชีพอื่นๆ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างบูรณาการ​ แก้ไขปัญหาภาวะวิกฤตของทรัพยากรธรรมชาติ บนพิ้นฐานของข้อเท็จจริงจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นสำคัญ
 

มหิดล พัฒนาระบบออนไลน์เพิ่มทักษะผู้สอน-เรียน

อีกหลักสูตรที่มีเป็นแห่งเดียว คือ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต(วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ)​ เนื่องจากปัจจุบันปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาเดียวของโลก แต่มีเรื่องของภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งภัยพิบัติบางอย่างเราไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถที่จะทำให้ภัยพิบัตินั้นบรรเทาลงจากหนักเป็นเบาได้โดยทั้งสองหลักสูตรนั้น นอกจากการเรียนการสอนในห้องเรียนแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่จริงด้ว​ย

นอกจากนี้ ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2563 ทางวิทยาเขตฯ จะจัดให้มีการนำเสนอผลงานนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ระดับปริญญาตรี (Senior​Project​ Exhibition 2020) แบบออนไลน์ผ่านระบบ Webex ซึ่งหัวข้อการนำเสนอส่วนใหญ่จะเป็นการใช้โจทย์จากชุมชน หรือความต้องการของพื้นที่และเป็นความต้องการในระดับประเทศด้วย เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ซึ่งได้แก่พืชผักผลไม้ที่ไม่สามารถขายเป็นผลสด โดยนำมาแปรรูปเพื่อให้เกิดมูลค่า และส่งเสริมการตลาดขาย ซึ่งเป็นการบูรณาการจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

การนำเสนอผลงานนักศึกษาแบบออนไลน์ นอกจากจะเป็นการเติมเต็มทักษะทางด้านวิชาการและวิชาชีพของนักศึกษาแล้ว ยังเป็นการฝึกทักษะทางด้าน Digital Literacy ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยเป็นการนำเสนอด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 15 โดยปีนี้เป็นการนำเสนอแบบออนไลน์ครั้งแรก

มหิดล พัฒนาระบบออนไลน์เพิ่มทักษะผู้สอน-เรียน