ฉบับที่แล้วได้บอกเล่าถึงอาการไปแล้ว มาดูกันว่าปัจจัยเสี่ยงในการเกิดไส้เลื่อนคือ 1.อายุที่มากขึ้น 2.ความผิดปกติแต่กำเนิด 3.ยกของหนักบ่อยๆ 4.ไอเรื้อรัง 5.เป็นโรคถุงลมโป่งพองหรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นโรคต่อมลูกหมากโต 6.ภาวะท้องผูก เบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นประจำ 7.เกิดภาวะมีนํ้าในช่องท้องปริมาณมาก 8. การมีนํ้าหนักตัวมากหรือโรคอ้วน 9. สูบบุหรี่จัด และ 10.หรืออาจเกิดได้ในหญิงตั้งครรภ์ ส่งผลให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นกว่าปกติ
การรักษาไส้เลื่อนนั้นส่วนใหญ่ต้องอาศัยการผ่าตัด ซึ่งมีวิธีการรักษาอยู่ 2 แบบ คือ 1.การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิดหน้าท้อง(แบบดั้งเดิม) เพื่อทำการปิดแผ่นตาข่ายไว้นอกช่องท้อง มีข้อดี คือสามารถทำภายใต้ยาชาเฉพาะที่ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถดมยาสลบหรือบล็อกหลังได้ 2.การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery: MIS) โดยแพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กจำนวน 3 รูบริเวณผนังหน้าท้อง เพื่อนำลำไส้กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิม และเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อที่เป็นจุดอ่อนที่ทำให้ไส้เลื่อนเคลื่อนที่ออก ด้วยแผ่นตาข่ายสังเคราะห์ที่มีความกว้างยาวประมาณ 10 x 15 ซม. (ขนาดใหญ่)
ซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องสามารถป้องกันภาวะไส้เลื่อนอื่นๆ บริเวณขาหนีบได้ด้วย อีกทั้งการปิดแผ่นตาข่ายจากภายในช่องท้องยังช่วยลดอัตราการกลับมาเป็นไส้เลื่อนซํ้าได้ โดยทั่วไปใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 45-60 นาที รอยแผลหลังผ่าตัดมีขนาดเล็ก 5-10 มม. อาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อย ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เร็วหลังพักฟื้น
ในกรณีที่ไส้เลื่อนมีการหักพับหรือหมุนไปมาค้างติด ไม่สามารถดันกลับเข้าที่เดิมได้ หมายถึง ภาวะไส้เลื่อนติดคา (Incarcerated Hernia) ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะลำไส้อุดตัน (Intestinal Obstruction) หากปล่อยทิ้งไว้นานเกิน 6 ชั่วโมง จะทำให้ลำไส้ส่วนที่ติดคาบวมขาดเลือดไปเลี้ยงนาน อาจเกิดภาวะลำไส้เน่า(Strangulated Hernia) มีโอกาสเกิดการทะลุหรือแตก เชื้อโรคกระจายไปทั่วท้องและเข้าสู่กระแสเลือด เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ซึ่งหากมาถึงขั้นนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และมีอันตรายถึงชีวิต
การรักษาผู้ป่วยที่เกิดภาวะไส้เลื่อนติดคา ขั้นแรก แพทย์จะพยายามนำไส้เลื่อนที่ติดคาให้เคลื่อนกลับเข้าไปในตำแหน่งเดิม แล้วจึงผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการติดคาซํ้าอีกครั้ง หากไม่สามารถดันไส้เลื่อนกลับเข้าตำแหน่งเดิมได้สำเร็จแพทย์จะทำการผ่าตัดรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อลดการเกิดภาวะไส้เลื่อนชนิดลำไส้เน่า
ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน การนำกล้องที่มีความชัดในระดับเทคโนโลยี 4K Ultra High Definition เข้ามาใช้ ช่วยให้ศัลยแพทย์มองเห็นอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้อง เส้นเลือด และเส้นประสาทขณะเลาะพังผืดได้อย่างชัดเจน ลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามถ้ามีก้อนตุงผิดสังเกต หรือมีอาการเจ็บหรือปวด ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไส้เลื่อนติดคา
หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,509 วันที่ 29 กันยายน - 2 ตุลาคม พ.ศ. 2562