TIDLOR รับหนี้ครัวเรือนพุ่ง ฉุดสินเชื่อโตต่ำเป้า เล็ง 5 ปีขยายตลาดอาเซียน

06 ก.ย. 2567 | 15:54 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2567 | 15:55 น.

"ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล" รับเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัว หนี้สินครัวเรือนอยู่ระดับสูง ฉุดยอดปล่อยสินเชื่อใหม่เติบโตลดลงที่ 10-15% จากเดิมคาดการณ์เกือบ 20% ในปี 67 เดินหน้าปรับโครงสร้าง "ติดล้อ โฮลดิ้งส์" ปลดล็อกศักยภาพทางธุรกิจ แย้มเจาะตลาดอาเซียน ภายใน 5 ปี

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR เปิดเผยว่า ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว หนี้ครัวเรือนไทยยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้บริษัทปรับกลยุทธ์การขยายสินเชื่อในปีนี้ใหม่ โดยอาจจะขยายตัวในกรอบ 10-15% จากเดิมเมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่วางเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ไว้ที่ไม่น้อยกว่า 10-12%

และบริษัทเน้นรักษาคุณภาพสินทรัพย์ และ การรักษาหนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อทำให้ภายในสิ้นปี 2567 นี้ จะคุม NPL ไม่ให้เกินระดับ 2% จากสิ้นไตรมาส 2/2567 ที่ทำได้ 1.8% ด้วยการควบคุมการอนุมัตสินเชื่อ รวมไปถึงบริษัทได้ทำการตัดหนี้สูญ (write-off) เพิ่มอีกทางหนึ่ง

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR

ปัจจัยที่ต้องติดตามจากนี้ คือ นโยบายจากทางภาครัฐ เพราะจะเกิดการกระตุ้นเพื่อทำให้ GDP มีการเติบโต ตลอดจนเพดานดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำทำให้มีปัญหาทางด้านต้นทุน แม้บริษัทจะควบคุมแล้วก็ตาม ประกอบกับการจัดทำข้อมูลให้มีมาตรฐานเดียวกันเพื่อทำให้บริษัทสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดีมากขึ้นอีกทางหนึ่ง

ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา นอกจากธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างมากกว่า 100,000 ล้านบาท ถือเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถแล้ว บริษัทยังคงมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจนายหน้าประกัน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความคุ้มครองด้านประกันได้เพิ่มขึ้น จึงได้บุกเบิกธุรกิจในรูปแบบบริการผ่อนเบี้ยประกันรถยนต์ด้วยเงินสด 0%

ทั้งนี้ ภาพรวมการดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันของบริษัทมีสัดส่วนธุรกรรมจากลูกค้าที่ซื้อประกันสูงกว่าการขอสินเชื่อ 3 เท่า และ 9 ใน 10 ของกรมธรรม์ที่ขาย เป็นการขายให้แก่ลูกค้าที่เจาะจงเข้ามาซื้อประกันโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นลูกค้าคนละกลุ่มกับลูกค้าสินเชื่อ สะท้อนถึงความสำเร็จในการสร้างการรับรู้ด้านแบรนด์ธุรกิจนายหน้าประกันของบริษัทอย่างต่อเนื่อง

โดยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยของบริษัทมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 47.3% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมธุรกิจประกันวินาศภัยที่เติบโตเฉลี่ยเพียง 4.5% ต่อปี หรือ เปรียบได้ว่า ภาพรวมธุรกิจนายหน้าประกันของบริษัทเติบโตมากกว่าภาพรวมตลาดถึง 10 เท่า สะท้อนถึงความแข็งแกร่งและศักยภาพการดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนายหน้าประกันภัย อยู่ที่ประมาณ 10% ของรายได้รวม โดยปี 2568 หรือปี 2569 บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มให้เป็นไม่น้อยกว่า 20% หากทำได้ โดยในปี 2567 นี้ บริษัทคาดหวังเบี้ยประกันเติบโต 20% หรือ แตะ 10,000 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่อยู่ 8,700 ล้านบาท

นางอาฑิตยา พูนวัตถุ ผู้บริหาร ด้านธุรกิจประกันภัย บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทมียอดเบี้ยประกันวินาศภัยรวมมูลค่า 4,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลมาจากการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงมีช่องทางการขายและให้บริการที่ครอบคลุม ทั้งในรูปแบบ Face to Face ผ่านช่องทางสาขาเงินติดล้อทั่วประเทศ

อาฑิตยา พูนวัตถุ ผู้บริหาร ด้านธุรกิจประกันภัย บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR

ที่ได้นำมาผสมผสานเข้ากับการใช้เทคโนโลยีด้านนายหน้าประกันภัย (InsurTech Platform) ซึ่งบริษัทฯ ได้สร้าง พัฒนา และใช้เทคโนโลยีด้านประกัน มามากกว่า 10 ปี ส่งผลให้บริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านการนำเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันได้ครอบคลุมความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มลูกค้า ภายใต้แบรนด์ต่างๆ ดังนี้

  1. แบรนด์ประกันติดโล่ ธุรกิจนายหน้าประกันในรูปแบบ Face to Face ผ่านนายหน้ามากกว่า 5,000 คน จากช่องทางสาขามากกว่า 1,700 แห่งทั่วประเทศ  นำเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันที่ครอบคลุมทั้งรถยนต์ คน และ บ้าน จากบริษัทประกันพันธมิตรมากกว่า 15 แห่ง 
  2. แบรนด์อารีเกเตอร์ แพลทฟอร์มเสนอขายประกันออนไลน์ ผ่านสมาชิกตัวแทนนายหน้าประกัน ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 9,000 คน และ ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี คาดว่าผลการดำเนินงานของอารีเกเตอร์ ในปี 2567 จะมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้าการเติบโต และ คาดว่าจะมีเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นกว่า 19 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งถึงเป็นปีแรกที่เปิดให้บริการ นอกจากนี้สมาชิกอารีเกเตอร์ยังมีรายได้โดยเฉลี่ยเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2566 สมาชิกได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่า 150,000 บาทต่อคน
  3. แบรนด์เฮ้กู๊ดดี้ คือ แพลตฟอร์มนายหน้าประกันดิจิทัลโดยเฉพาะ พี่สร้างขึ้นเพื่อกลุ่มลูกค้าประกันรายย่อยที่ไม่ชอบการถูกรบกวนทางโทรศัพท์ และ ต้องการเลือกซื้อประกันด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมงพร้อมรับความคุ้มครองทันที โดยลูกค้าสามารถเปรียบเทียบเบี้ย และ เงื่อนไขการรับประกันได้ด้วยตัวเองจากบริษัทประกันพันธมิตรชั้นนำมากกว่า 15 แห่ง

ทั้งนี้ หลังจากเปิดให้บริการในช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา เฮ้กู๊ดดี้ ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์มากกว่า 2 ล้านคน และ จากข้อมูลเชิงลึกพบว่าลูกค้ามากกว่า 40% ซื้อประกันในช่วงนอกเวลาทำการ และ ผลการสำรวจความพึงพอใจพบว่า ลูกค้ามากกว่า 96% พึงพอใจในการเข้ามาใช้บริการ

นายปิยะศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ภาพรวมธุรกิจนายหน้าประกันในประเทศไทย มีสัดส่วนการซื้อประกันผ่านช่องทางนายหน้าสูงถึง 73% เมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ และยังมีจำนวนนายหน้าประกันอิสระในประเทศไทยมากกว่า 80,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายหน้ารูปแบบดั้งเดิมที่อาจมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี

ในขณะที่ภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยมียอดเบี้ยประกันรวมในตลาด มูลค่ากว่า 285,000 ล้านบาท แต่บริษัทนายหน้าประกันเจ้าหลัก 10 อันดับแรก มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันเพียง 29% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าธุรกิจนายหน้าประกันยังไม่มีผู้ครอบครองหลัก จึงมองเป็นโอกาสที่จะเข้าไปขยายตลาดนายหน้าประกันได้อีกมาก

ประกอบกับจากการสำรวจข้อมูลรถยนต์จดทะเบียนในประเทศไทย พบว่า มีจำนวน 19.8 ล้านคัน แต่มากกว่า 40.6% ที่ยังไม่ได้ทำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการขยายตัวของตลาดได้อีกมากในอนาคต โดยจุดแข็งของบริษัท คือ มีความเชี่ยวชาญในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดแห่งใหม่ "บริษัท ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)" ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนเพื่อเป็นบริษัทใหญ่ของกลุ่มบริษัท โดยภายหลังการปรับโครงสร้างการถือหุ้น และการจัดการจะสามารถลดความสับสนของนักลงทุนจากการจ่ายหุ้นปันผล โดยจะเพิ่มความยืดหยุ่นในการจ่ายเงินปันผลในรูปแบบเงินสด รวมถึงการลดความสับสนของนักลงทุนเกี่ยวกับราคาหุ้น และกำไรต่อหุ้น 

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการให้มีการจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจในหน้าประกันวินาศภัย ในรูปแบบ InsurTech Platform ในอนาคต โดยบริษัทจะทำการโอนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยในรูปแบบ InsurTech Platform ได้แก่ แบรนด์ อารีเกเตอร์ และ แบรนด์ เฮ้กู๊ดดี้ รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้แก่บริษัทใหม่ภายหลังจากที่หุ้นสามัญของ ติดล้อ โฮลดิ้งส์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 

Holding InsurTech

ซึ่งหลังจากการโอนธุรกิจที่เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้วเสร็จ ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จะเข้าซื้อหุ้นของบริษัทใหม่ในสัดส่วน 99.99% โดยการจัดตั้งบริษัทใหม่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้น และการจัดการของบริษัทที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ รวมไปถึงความยืดหยุ่นของโครงสร้างการจัดการองค์กรให้เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจของแต่ละธุรกิจ เพื่อให้มีการแบ่งแยกการกำกับดูแล และการบริหารและจำกัดความเสี่ยงของแต่ละธุรกิจที่มีลักษณะต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยสถานะของการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทเป็น Holdind Company ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ โดยคาดว่า ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท หรือ Tender Offer จากผู้ถือหุ้นเดิม โดยวิธีการแลกหุ้นที่อัตรา 1:1 ในช่วงไตรมาส 4/2567 และ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จไม่เกินปลายปี 2567 เช่นเดียวกัน

ขั้นตอนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ

"หลังจากการเปลี่ยนเป็น ติดล้อ โฮลดิ้งส์ แล้ว เรายังมั่นใจว่าผลการดำเนินงานยังคงทำได้ดีอย่างต่อเนื่องในปี 68 และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเข้ามาเสริม ทำให้ค่าใช้จ่ายภาษีของบริษัทลดลง ในขณะเดียวกันก็ยังคงสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นในระดับที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ยังอยู่ในระดับที่ดี สม่ำเสมอ จากการที่สามารถเพิ่มความยืดหยุนในการจ่ายปันผลเป็นเงินสดได้มากขึ้น"นายปิยะศักดิ์ กล่าว

อีกทั้ง ยังเพิ่มโอกาสในการสร้างพันธมิตรผ่านการควบรวมกิจการ หรือ การร่วมลงทุน ที่จะช่วยการสนับสนุนการเติบโตระยะยาว โดยเฉพาะการมองหาโอกาสขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ อาทิ ในตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการขยายธุรกิจของบริษัทที่ต้องการมุ่งไป แต่ยังอยู่ระหว่างการมองหาโอกาสในการขยายการลงทุนที่ดีเข้ามา หรือหากมีความร่วมมือกับกลุ่ม MUFG หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก และ ทั่วภูมิภาค ก็พร้อมที่จะเข้าไปร่วมในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี การเข้าไปรุกเจาะตลาดในอาเซียนนั้น บริษัทจะมุ่งเน้นในตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงาน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งคาดว่ามีโอกาสได้เห็นในระยะ 3-5 ปีต่อจากนี้ไป