ผลเลือกตั้งนายก อบจ. ดัชนีชี้วัดการเมืองระดับชาติ

27 พ.ย. 2567 | 07:00 น.
2.6 k

ผลเลือกตั้งนายก อบจ. ดัชนีชี้วัดการเมืองระดับชาติ : หากใครสามารถยึดครองเก้าอี้ “นายก อบจ.” ไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อปูพื้นคะแนนนิยมไปสู่การเลือกตั้งสนามใหญ่ ในปี 2570 ก็น่าจะมีโอกาสได้เปรียบอยู่ไม่ใช่น้อย …รายงานพิเศษ ฐานเศรษฐกิจ

KEY

POINTS

  • ผลการเลือกตั้ง นายก อบจ. ล่าสุด 3 จังหวัด คือ เพชรบุรี นครศรีธรรมราช และ อุดรธานี พรรคเพื่อไทย และ พรรคภูมิใจไทย คว้าไปพรรคละ 1 จังหวัด
  • สนามเลือกตั้งนายก อบจ.อุธรธานี พรรคเพื่อไทย ที่ “ทักษิณ” ทุ่มเต็มกำลัง สามารถเอาชนะพรรคประชาชน ไปได้ ปูทางสู้การเลือกตั้งระดับชาติ
  • “พิธา”ชี้แม้พรรคประชาชนพ่ายศึกเลือกตั้งนายก อบจ. อุดรฯ แต่คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นกว่าเลือกตั้ง สส.ปี 66 เชื่ออีก 3 ปีข้างหน้าเลือกตั้งใหญ่ ได้สส.เขตมากกว่า 1 ที่นั่งแน่ 

เสร็จสิ้นลงไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา สำหรับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) แทน นายก อบจ.ที่ลาออกก่อนครบวาระ ใน 3 จังหวัด คือ เพชรบุรี นครศรีธรรมราช และ อุดรธานี 

ผลการเลือกตั้ง นายก อบจ.เพชรบุรี ปรากฏว่า นายชัยยะ อังกินันทน์ อดีตนายก อบจ.เพชรบุรี หลายสมัย ชนะไปตามความคาดหมาย ได้คะแนนสูงสุด 170,171 คะแนน ขณะที่ นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ประธานสภาทนายความจังหวัดเพชรบุรี ได้ 57,854 คะแนน 

“ภูมิใจไทย”น็อก ปชป.

ขณะที่ผลการเลือกตั้ง นายก อบจ.นครศรีธรรมราช ปรากฏว่า นางสาววาริน ชิณวงค์ หรือ “น้ำ” พลิกล็อกล้มแชมป์เก่า อย่าง นางกนกพร เดชเดโช ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นแม่ของ นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 
โดยนางสาววาริน ได้ 328,823 คะแนน ขณะที่ นางกนกพร ได้เพียง 294,835 คะแนน ทิ้งห่างกัน 33,988 คะแนน

ทั้งนี้ สนามนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ที่แม้จะเป็นสนามการเมืองท้องถิ่น แต่รูปแบบการต่อสู้ของผู้สมัครมีพรรคการเมืองระดับชาติหนุนหลัง โดยเป็นการต่อสู้กันระหว่าง ภูมิใจไทย และ ประชาธิปัตย์  

“พรรคภูมิใจไทย” ซึ่งมีสส.เมืองคอน 2 คน ให้การสนับสนุน วาริน ชิณวงค์ และยังมีในส่วนของ "สส.ปุ้ย" พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล อดีตรมว.อุตสาหกรรม แห่งพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีแรงแค้นกับ "บ้านใหญ่เดชเดโช" ตั้งแต่เมื่อครั้งยังอยู่ค่ายสีฟ้าด้วยกัน เปิดหน้าสนับสนุนอีกแรง  

“เพื่อไทย”คว้านายกอบจ.อุดร

ส่วนผลการเลือกตั้ง นายก อบจ.อุดรธานี ปรากฏว่า นายศราวุธ เพชรพนมพร จากพรรคเพื่อไทย คว้าเก้าอี้ไปครอง ได้คะแนนสูงสุด 327,487 คะแนน ส่วน นายคณิศร ขุริรัง ของพรรคประชาชน ได้ 268,675 คะแนน ทิ้งห่างกัน 58,812 คะแนน

การทุ่มเทของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ได้ลงพื้นที่ไปช่วยผู้สมัครหาเสียง นำมาซึ่งชัยชนะดังกล่าว 

“พิธา”ปลื้มคะแนนอุดรฯเพิ่มขึ้น 

ภายหลังพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ช่วยหาเสียงของ นายคณิศร ขุริรัง ออกมาโพสต์แสดงความเห็นว่า เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นแรงผลักดันในอุดรธานี 

ปีที่แล้วเป็นการเลือกตั้งระดับประเทศ มีผู้มาใช้สิทธิ์ 800,000 คน (69%) และพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียง 220,000 คะแนน ปีนี้เป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น โดยมีผู้มาใช้สิทธิ์ลดลงเหลือ 640,000 คน (52%) แต่พรรคประชาชนกลับได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 268,000 คะแนน นี่ถือเป็นคะแนนที่มากกว่าครั้งที่พรรคก้าวไกล เคยได้รับอีก แม้ว่าจะมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ลดลงก็ตาม

นายพิธา ชี้ว่า แม้เราจะไม่ได้ชัยชนะ แต่เราก็ได้สร้างความก้าวหน้าสำคัญในหนึ่งในสมรภูมิที่ยากที่สุด นับตั้งแต่พรรคก้าวไกลก่อตั้งขึ้นมา อุดรธานีเคยเป็นฐานเสียงที่แข็งแกร่งของอีกฝ่ายมาโดยตลอด แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า เรากำลังลดช่องว่างลงได้อย่างต่อเนื่อง  

อีก 3 ปีข้างหน้า เมื่อถึงรอบการเลือกตั้งระดับประเทศอีกครั้ง จะเป็นเกมที่แตกต่างออกไป การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการเปิดให้ลงคะแนนเสียงจากต่างประเทศ (ซึ่งพี่น้องแรงงาน จาก อ. หนองหาน, เพ็ญ และ บ้านผือ จำนวนมาก จะมีสิทธิ์ลงคะแนนจากต่างประเทศ) การลงคะแนนล่วงหน้า และการลงคะแนนนอกเขต ทำให้กระบวนการเลือกตั้งมีความครอบคลุมและเปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น

มุ่งหน้าสู่เป้าหมาย จุด " tipping point" พวกเราสามารถเพิ่มอัตราผู้มาใช้สิทธิ์ เปลี่ยนแปลงคะแนนเสียงในหน่วยเลือกตั้ง และสร้างอนาคตที่เสียงของทุกคนได้รับการได้ยินและนับอย่างแท้จริง

นายพิธา ระบุด้วยว่า ก้าวสู่ปี 2570 ขอให้ทุกคนพิจารณา 3 ข้อดังต่อไปนี้ 1.ลองเทียบคะแนนรายอำเภอ จะเห็นเลยว่ามี โอกาสได้ สส. มากกว่า 1 เขต แน่นอน (ผมคำนวณแล้วแต่ยังไม่บอก) 2.เกาะติดพื้นที่แบบ ไม่ใช่แค่ระดับอำเภอ แต่ระดับตำบล หรือ หมู่บ้าน ในเขตนั้น ๆ 3. ใช้ กมธ.ที่ดิน เกษตร แรงงาน ท่องเที่ยว ให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ในเขตนั้น ๆ

                                        ผลเลือกตั้งนายก อบจ. ดัชนีชี้วัดการเมืองระดับชาติ

เลือกตั้งท้องถิ่นกุญแจการเมือง

ด้าน นายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา ออกมาสะท้อนสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ว่า ประเด็นที่นักการเมืองสนใจ คือ วันที่ 1 ก.พ. 2568 เพื่อเลือกผู้บริหารท้องถิ่น (เลือกตั้งท้องถิ่น) ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นจุดวัดว่า ใครคุมสภาพได้มากกว่าใคร โดยจะเป็นเงื่อนไข และ วัดอุณหภูมิการเมืองได้ว่า ใครมีน้ำหนักต่างกัน และเป็นกุญแจสำคัญทางการเมือง

ที่ผ่านมา “ทักษิณ ชินวัตร” ได้ออกมาประกาศเป้าหมายเอาไว้แล้วว่า ในการเลือกตั้ง สส.ปี 2570 พรรคเพื่อไทย จะกลับมาทวงแชมป์อันดับหนึ่ง โดยต้องได้ สส.มากกว่า 200 ที่นั่งขึ้นไป

ขณะที่ พรรคประชาชน โดย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค ก็ประกาศเช่นกันว่า “ถ้าเป้าหมายการเลือกตั้งปี 2570 ของเราคือ นำ สส.เข้าสภา 270 คน จะต้องหา สส.เขตให้ได้ 220 คน หากเทียบกับปัจจุบันที่มี สส.เขตราว 100 กว่าคน ดังนั้น ต้องหาเพิ่มอีก 100 กว่าคน เพื่อให้ครบ 220 คน” 

การจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ หากใครสามารถยึดครองเก้าอี้ “นายก อบจ.” ไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อปูพื้นคะแนนนิยมไปสู่การเลือกตั้งสนามใหญ่ ในปี 2570 ก็น่าจะมีโอกาสได้เปรียบอยู่ไม่ใช่น้อย...

                            ++++++


“เพื่อไทย-ภูมิใจไทย”ยึดนายก อบจ.

ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือน มี.ค. -พ.ย. 2567 มี นายก อบจ. ลาออกก่อนครบวาระ และนำไปสู่การการเลือกตั้งใหม่ ไปแล้ว 20 จังหวัด ในจำนวนนี้ 

พรรคเพื่อไทย ชนะไป 5+1 จังหวัด ประกอบด้วย พะเยา พิษณุโลก ยโสธร สุโขทัย อุดรธานี  ส่วนอีก 1 จังหวัด คือ ขอนแก่น วัฒนา ช่างเหลา ในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย นายกอบจ.คนปัจจุบัน ถูกจัดอยู่ในกลุ่มแดงจำแลง 

พรรคภูมิใจไทย ชนะไป 10 จังหวัด ประกอบด้วย เลย นครสวรรค์ อ่างทอง ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชัยภูมิ อุทัยธานี ระนอง นครศรีธรรมราช และ สุรินทร์ 

พรรครวมไทยสร้างชาติ 3 จังหวัด คือ ชัยนาท ชุมพร เพชรบุรี 

และ กลุ่มร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ชนะไป 1 จังหวัด คือ ราชบุรี 

ผลเลือกตั้ง นายก อบจ. ที่ออกมาสะท้อนว่า “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย" ยังยึดครองสนามท้องถิ่นได้อยู่

                                       +++++++

คู่ต่อกร“พรรคส้ม”ชิงนายก อบจ. 

เมื่อวัน 17 พ.ย. 2567 พรรคประชาชน ค่ายสีส้ม ได้เปิดตัวผู้สมัคร นายก อบจ. 12 คน ใน 12 จังหวัด โดยผู้สมัครของค่ายสีส้มที่เปิดตัวออกมาจะต้องเจอกับ “คู่ต่อกร” เป็นใครบ้าง ไปดูกันเลย  

1. เชียงใหม่ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ พรรคประชาชน เจอกับ “สว.ก๊อง” พิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายก อบจ.เชียงใหม่ จากพรรคเพื่อไทย    

2. ลำพูน วีระเดช ภู่พิสิฐ พรรคประชาชน เจอกับ อนุสรณ์ วงศ์วรรณ นายก อบจ.คนปัจจุบัน จากพรรคเพื่อไทย 

3. มุกดาหาร สุพจน์ สุอริยพงษ์ พรรคประชาชน เจอกับ จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ นายกอบจ.คนปัจจุบัน  

4. หนองคาย อุรุยศ เอียสกุล พรรคประชาชน เจอกับ ยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.คนปัจจุบัน ที่ถือเป็นสายตรง “ลุงบ้านป่า” และ วุฒิไกร ช่างเหล็ก ของพรรคเพื่อไทย

5. ตราด ชลธี นุ่มหนู ของพรรคประชาชน ชนกับ วิเชียร ทรัพย์เจริญ นายกอบจ.ตราด คนปัจจุบัน   

6. ภูเก็ต นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล พรรคประชาชน ชนกับ เรวัต อารีรอบ นายกอบจ.คนปัจจุบัน  

7. สุราษฎร์ธานี นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ พรรคประชาชน นอกจากต้องเจอกับ “กำนันศักดิ์” พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกอบจ.คนปัจจุบันแล้ว ยังมี โสภา กาญจนะ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ อีกคน

8.พังงา สุทธิโชค ทองชุมนุม พรรคประชาชน เจอกับ ธนาธิป ทองเจิม นายกอบจ.คนปัจจุบัน พรรคสีน้ำเงินให้การสนับสนุน 

9.สงขลา นิรันดร์ จินดานาค พรรคประชาชน เจอกับ สุพิศ พิทักษ์ธรรม จากพรรคประชาธิปัตย์

10.สมุทรสงคราม นันทิยา ลิขิตอำนวยชัย พรรคประชาชน เจอกับ กาญจน์สุดา ปานะสุทธะ นายกอบจ.สมุทรสงคราม คนปัจจุบัน สายลุงบ้านป่า 

11.สมุทรปราการ นพดล สมยานนทนากุล พรรคประชาชน เจอกับ สุนทร ปานแสงทอง สายตรงบ้านใหญ่อัศวเหม 

12. นนทบุรี เลิศมงคล วราเวณุชย์ พรรคประชาชน เจอกับ พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ นายกอบจ.คนปัจจุบัน ซึ่งมีพรรคเพื่อไทย และ พรรคภูมิใจไทย เป็นฐานเสียงสำคัญ