ธปท.เผย! Q3/67 สินเชื่อแบงก์หดตัว 2% NPL ทะลุ 5.5 แสนล้าน

26 พ.ย. 2567 | 16:09 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2567 | 16:14 น.

ธปท.เผย Q3/67 สินเชื่อแบงก์หดตัว 2% NPL เพิ่มแตะ 5.534 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.97% ของสินเชื่อรวม ระบบธนาคารยังมั่นคง เงินกองทุน-สภาพคล่องสูง แต่ต้องจับตา SMEs-ครัวเรือนที่มีหนี้สูง

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2567ระบุว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 3 ปี 2567 หดตัวที่ร้อยละ 2.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยหลักมาจากการชำระคืนหนี้ที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการจ่ายคืนหนี้ของภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ แม้การให้สินเชื่อใหม่ยังมีต่อเนื่องในธุรกิจขนาดใหญ่ในภาคบริการ อสังหาริมทรัพย์ พาณิชย์ และสินเชื่ออุปโภคบริโภคประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่มีแนวโน้มชะลอลง

ขณะที่สินเชื่อในภาคธุรกิจที่เผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขันยังคงหดตัว โดยเฉพาะในกลุ่มปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์

สำหรับยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 3 ปี 2567 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.534 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.97 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสินเชื่อที่ปรับลดลง จากทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยธนาคารพาณิชย์ยังบริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ร้อยละ 6.86 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพของ ธพ. โดยธุรกิจยังสามารถชำระคืนหนี้ได้ตามเงื่อนไขสัญญา และสินเชื่อที่อยู่อาศัย

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2567 ปรับดีขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการวัดมูลค่าตราสารทางการเงิน ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับลดลง โดยหลักจากการลดลงของรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล แม้ค่าใช้จ่ายสำรองปรับลดลง

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้สูง รวมถึงธุรกิจในกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ NPL ยังมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (NPL cliff)

ด้านสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 2 ปี 2567 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลงสอดคล้องกับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ปรับลดลงตามการหดตัวของสินเชื่อและตราสารหนี้ ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในภาคการผลิต